ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

บทความวิชาการ
การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยยา
ชื่อบทความ การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยยา
ผู้เขียนบทความ ดร.ภญ.พรชนก ศรีมงคล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-1-000-004-12-2564
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 01 ธ.ค. 2564
วันที่หมดอายุ 30 พ.ย. 2565
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีความสำคัญในระดับโลก ปัจจุบันมีรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตรายงานว่ามีผู้ป่วยสะสมด้วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,111,938 คนที่เข้าถึงบริการทางการแพทย์ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 963,420 คน ในปี 2563 และ 982,128 คน ในปี 2562 โรคซึมเศร้าพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายและพบได้ในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงานและผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ควรต้องเฝ้าระวังการเกิดโรคซึมเศร้า ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน มีโรคเรื้อรังทางกาย เช่น เอดส์ มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น มารดาหลังคลอด ผู้ติดสุรา ยาเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ และผู้ที่เพิ่งประสบกับความสูญเสียรุนแรง โรคซึมเศร้าส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านชีวิตประจำวันและในการทำงาน ทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองและการดำเนินชีวิตประจำวันทำได้แย่ลง รวมถึงทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงด้วย การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจึงส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้างในด้านเศรษฐกิจ จิตใจ และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอาจทำให้โรคร่วมทางกายของผู้ป่วยกำเริบหนักขึ้น กรณีที่รุงแรงที่สุดอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้ ในด้านของการรักษา ผู้ป่วยซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านเศร้าหลังจากอาการทุเลาแล้วควรให้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-9 เดือน เภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในด้านการใช้ยา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เภสัชกรควรจะให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเต็มความสามารถ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพิ่มอัตราการหายป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตและทำงานได้ปกติ
คำสำคัญ
โรคซึมเศร้า, Major depressive disorder, เภสัชกร, ยาต้านเศร้า, antidepressants