ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

บทความวิชาการ
อัปเดต วัคซีนต้านโควิด-19
ชื่อบทความ อัปเดต วัคซีนต้านโควิด-19
ผู้เขียนบทความ ดร.ภก. นพวัฒน์ เพ็งคำศรี
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2006-1-000-003-11-2564
ผู้ผลิตบทความ สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย)
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 25 พ.ย. 2564
วันที่หมดอายุ 24 พ.ย. 2565
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน และทำให้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้วัคซีนคือคำตอบที่ดีที่สุดในการป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค เพื่อป้องกันการล่มสลายของระบบสาธารณสุขและฟื้นฟูวิถีชีวิตที่ปกติให้กลับมา วัคซีนต้านโควิด-19 ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 200 ชนิด แต่ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ยอมรับและอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ รูปแบบการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 นั้นมีความแตกต่างและหลากหลาย เช่น วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนเวกเตอร์ วัคซีนโปรตีนบางส่วน และวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นต้น ซึ่งวัคซีนทุกชนิดมีเป้าหมายในการใช้งานแอนติเจนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของโปรตีนเอสเพื่อไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดขึ้น การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโปรตีนเอสนั้นจะมีกลไกผ่านระบบการทำงานในรูปแบบของการพึ่งเซลล์และการสร้างแอนติบอดี โดยการได้รับวัคซีนนั้นเปรียบเสมือนการซ้อมทำลายเชื้อโรคของระบบภูมิคุ้มกันก่อนการเผชิญหน้ากับเชื้อโรคที่แท้จริง ซึ่งเป้าหมายหลักของการใช้วัคซีน ได้แก่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการก่อโรคจากการติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ การให้วัคซีนครบในประชากรที่มีจำนวนมากอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องให้ครบก็ได้เพียงแต่จำเป็นต้องให้มากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ กล่าวคือให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มในประชากรจำนวนถึงร้อยละ 60-80 ของประชากรทั้งหมดก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายของการใช้วัคซีนได้แล้ว อีกทั้งการต่อสู้กับเชื้อโคโรนา 2019 ในครั้งนี้นั้นจำเป็นต้องผลิตวัคซีนให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนประชากร มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันสูงและอยู่ได้นาน ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเหมาะสม จึงจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการได้ แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนต้านโควิด-19 นี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่ซึ่งใช้เวลาน้อยในการพัฒนาและเก็บข้อมูล เป็นแต่เพียงการอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนผลกระทบต่างๆ เช่น ผลข้างเคียง หรือผลระยะยาวจึงยังต้องทำการศึกษาต่อไป
คำสำคัญ
โควิด-19 , วัคซีน , ภูมิคุ้มกัน , COVID-19, vaccine, immunity