ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

บทความวิชาการ
การพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกสำหรับการป้องกันโรคโควิด 19 และการรักษาในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก
ชื่อบทความ การพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกสำหรับการป้องกันโรคโควิด 19 และการรักษาในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก
ผู้เขียนบทความ นสภ.จิราภรณ์ เต็มธนาภัทร์ นสภ.พรรษพร ชลไกรสุวัฒน์ นศภ.กัลยรัตน์ คงตั้ง นศภ.ฐณิชา อ่อนช้อยสกุล และภก.อนวัช มิตรประทาน
สถาบันหลัก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
รหัสกิจกรรม 5003-1-000-004-10-2564
ผู้ผลิตบทความ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 10 พ.ย. 2564
วันที่หมดอายุ 09 พ.ย. 2565
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
การระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาวัคซีนขึ้นเป็นวงกว้าง โดยวัคซีนโควิดที่มีใช้ในปัจจุบันจะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular; IM) ทำให้สามารถกระตุ้นแอนติบอดีชนิด IgG ได้ในปริมาณมาก แต่ไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีชนิด IgA ซึ่งเป็นแอนติบอดีหลักในระบบภูมิคุ้มกันเยื่อเมือก (mucosal immune system) ได้ ทำให้ไม่มีปราการด่านหน้าที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นที่จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ SAR-CoV-2 ได้ จากสาเหตุนี้เองทำให้เกิดความต้องการที่จะพัฒนาวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการหลั่งแอนติบอดีชนิด IgA ที่เยื่อเมือกบริเวณโพรงจมูกซึ่งเป็นด่านแรกสุดของการได้รับเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 วัคซีนแบบพ่นทางจมูก (Intranasal vaccine) สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีได้ทั้งชนิด IgA ที่ระบบภูมิคุ้มกันเยื่อเมือกและชนิด IgG ในระบบเลือด จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนโควิด ซึ่งข้อดีหลักของวัคซีนประเภทนี้ คือ นำส่งยาสะดวก ง่ายต่อการบริหารยาด้วยตนเอง และสามารถกระตุ้นการสร้าง IgA ได้ องค์ประกอบหลักในสูตรตำรับของวัคซีน ได้แก่ สารเพิ่มความคงตัว (stabilizers) เพื่อเพิ่มความคงตัวและเพิ่มความสามารถในการทนความร้อน (thermostability) ของแอนติเจน (antigen, Ag) สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อเพิ่มความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน สารป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็ง (cryoprotectants) บัฟเฟอร์ (buffers), ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) และสารกันเสีย (preservatives) ซึ่งสารช่วยเหล่านี้ทำให้แอนติเจนมีความคงตัว คงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันไว้ได้ ทั้งในช่วงเก็บรักษาและหลังจากให้วัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม วัคซีนพ่นทางจมูกก็มีข้อจำกัดในด้านอุปกรณ์นำส่ง เนื่องจากรูปแบบของวัคซีนนั้นมีทั้งรูปแบบของเหลวหรือผงแห้ง จึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกอุปกรณ์ในการช่วยนำส่งยาที่เหมาะสม ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการพัฒนาวัคซีนแล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การรักษาการติดเชื้อโควิด 19 ที่นำส่งทางจมูกอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น สเปรย์พ่นจมูก Nitric oxide สำหรับฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาในโพรงจมูก หรือ Taffix spray สำหรับป้องกันการติดเชื้อในโพรงจมูก ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการระบาดเป็นวงกว้างของเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับวัคซีน
คำสำคัญ
COVID-19, SARS-CoV-2, วัคซีนพ่นจมูก, อุปกรณ์นำส่งวัคซีน, สเปรย์พ่นจมูก