บทคัดย่อ
เปล้าน้อย เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ทางการแพทย์แผนโบราณมายาวนาน ในตำรายาไทย ตำรับพระโอสถพระนารายณ์ มีปรากฏการใช้เปล้าน้อย โดยส่วนที่ใช้มี เปลือก ใบ ดอก ราก และ แก่น ให้สรรพคุณต่างกันไป โดยส่วนของเปลือกและใบจะเกี่ยวข้องกับการรักษาอาการท้องเสียและสมานแผลในกระเพาะอาหาร ดอกใช้ขับพยาธิ แก่นใช้ขับโลหิต (1) การศึกษาวิจัยสารสำคัญที่ถูกพัฒนาเป็นยาจนสำเร็จ คือ สารเปลาโนทอล (plaunotol) ที่ถูกค้นพบในส่วนใบของต้นเปล้าน้อย (Croton stellatopilosus H.Ohba) เมื่อปี ค.ศ.1978 โดย Ogiso และคณะ(2) ในเวลาต่อมาสารเปลาโนทอล มีรายงานฤทธิ์ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารครั้งแรกในปี ค.ศ.1985(3) และได้รับการพัฒนาเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารในที่สุด แม้ว่าปัจจุบันยานี้จะไม่มีการจำหน่ายแล้ว อาจเนื่องมาจากวัตถุดิบไม่เพียงพอ แต่สำหรับตัวสมุนไพรเองก็ยังคงมีการใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาไทยอยู่บ้าง พบอยู่ในตำรับยารักษา กิโลมกัง (พังผืดพิการ หรือ โรคริดสีดวงแห้ง) ที่มีอาการผอมแห้ง มีอาการไอหอบ และตำรับยารักษาอันตังพิการ (ลำไส้ใหญ่) มีอาการปวดท้อง ขัดอก อาเจียน อันตคุณัง (ลำไส้น้อย) มีอาการวิงเวียนหน้าตา ให้หาว เรอ จุกเสียด มีเสมหะ ร้อนในท้อง ให้ถ่ายเป็นเลือดเป็นหนอง ปวดหลัง (4) และมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีเปล้าน้อยเป็นส่วนผสมร่วมกับสมุนไพรรสร้อนอื่น เช่น ขมิ้นชัน ดีปลี ขิง พริกไทยดำ ชะพลู บรรจุในรูปแบบแคปซูล หรือ ในรูปแบบยาน้ำ นอกจากนี้มีการทำสารสกัดเปล้าน้อยด้วยตัวทำละลายเอทานอลและเฮกเซน ที่มีปริมาณเปลาโนทอลเข้มข้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 มาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง (5) เนื่องจากเปลาโนทอลเป็นสารที่ได้รับการศึกษาวิจัยในด้านกลไกการออกฤทธิ์และมีประสิทธิผลชัดเจนในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารในมนุษย์ สำหรับสารองค์ประกอบอื่นในสมุนไพรชนิดนี้ยังมีการศึกษาไม่มากนัก หากจะควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเปล้าน้อย จึงควรใช้สารเปลาโนทอล เป็นตัวชี้วัด (marker) ในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้นำเสนอข้อมูลสำคัญของสมุนไพรเปล้าน้อย โดยเน้นไปที่สารสำคัญเปลาโนทอล ในด้านการออกฤทธิ์และประสิทธิผลทางคลินิก