บทคัดย่อ
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2548 โดยเน้นการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างไรก็ตามกัญชงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2561 ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522และจัดเป็นพืชที่ห้ามใช้ในอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 378) พ.ศ. 2559 เรื่อง กำหนดพืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ ที่ห้ามใช้ในอาหาร ต่อมาในปี 2562 รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ กองควบคุมยาวัตถุเสพติดจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว มีสาระสำคัญคือกำหนดชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และกำหนดข้อยกเว้นให้วัตถุหรือสารบางชนิดของกัญชาและกัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองอาหาร จึงจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับการอนุญาตการใช้กัญชาและกัญชงสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยระยะแรกได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อรองรับส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชงโดยมีข้อกำหนดความปลอดภัยและเงื่อนไขการใช้กัญชงอาหาร ซึ่งจะมีการจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับการอนุญาตส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ในอาหารอื่นๆต่อไป
คำสำคัญ
กฎระเบียบด้านอาหาร, อุตสาหกรรมอาหาร, กัญชา, กัญชง