บทความวิชาการ
สถานการณ์ยาและระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินของประเทศไทย
ชื่อบทความ สถานการณ์ยาและระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินของประเทศไทย
ผู้เขียนบทความ ภก. ปิยวัฒน์ ดิลกธรสกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นันทวรรณ กิติกรรณากรณ์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-1-000-003-05-2564
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 12 พ.ค. 2564
วันที่หมดอายุ 11 พ.ค. 2565
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ประกอบด้วย ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาล ระบบส่งต่อ และระบบการจัดการสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข สถานการณ์ของระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินในปัจจุบัน 1. ด้านการบริการ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินยังน้อย ห้องฉุกเฉินแออัด โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2. ด้านบุคลากร ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญสูง ความเสี่ยงของบุคลากรสูงขึ้น เนื่องจากความรุนแรงในห้องฉุกเฉินเพิ่มสูงขึ้น 3. ด้านการบริหารจัดการ การทำงานของหน่วยงานในระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ซ้ำซ้อน ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน การจัดการระบบข้อมูลสุขภาพ ขาดการเชื่อมโยงกัน และข้อมูลไม่เป็นมาตรฐาน ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉินขาดมาตรฐานและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนับแต่ การประเมิน การจัดการ การประสานงาน การควบคุมดูแล การติดต่อสื่อสาร การลำเลียงหรือขนส่งผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัย และการบำบัดรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินให้พ้นภาวะฉุกเฉิน ผ่านชุดปฏิบัติการฉุกเฉินซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง กรมการแพทย์ และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน มีคำแนะนำรายการยาจำเป็นในภาวะฉุกเฉินที่บริการห้องฉุกเฉินและชุดปฏิบัติการฉุกเฉินในแต่ละระดับที่ขาดการประเมินการเข้าถึงยาที่จำเป็นตามบริบทที่แตกต่างของหน่วยบริการแต่ละระดับ วิชาชีพเภสัชกรรมควรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการด้านยาช่วยชีวิตฉุกเฉินในหน่วยบริการผ่านคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ทั้งการคัดเลือกรายการยาและกำหนดจำนวนยาอย่างเหมาะสมในแต่ละระดับบริการ การบริหารจัดการคลังและการสำรองยาที่หน่วยบริการ การประกันความพร้อมใช้ยาช่วยชีวิตฉุกเฉินด้วยระยะเวลาและวิธีการที่เหมาะสม ตลอดจนการจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจการใช้ยาช่วยชีวิตฉุกเฉิน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาสูงสุด
คำสำคัญ
ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน, ยาช่วยชีวิตฉุกเฉิน, ระบบการจัดการด้านยา, ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน