ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (Coronavirus Disease 2019, COVID-19)
ชื่อบทความ โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (Coronavirus Disease 2019, COVID-19)
ผู้เขียนบทความ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.มะลิ วิโรจน์แสงทอง
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-1-000-009-10-2563
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 20 ต.ค. 2563
วันที่หมดอายุ 19 ต.ค. 2564
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เรียกย่อว่า “โควิด-19” เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบปลายปี ค.ศ. 2019 International Committee on Taxonomy of Viruses (ICTV) ตั้งชื่อเชื้อว่า “Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2, SARS-CoV-2)” ตามผลลำดับเบสของสารพันธุกรรมสอดคล้องกับ SARS-CoV มากที่สุดในบรรดาโคโรนาไวรัสก่อโรคในคน และใกล้เคียงกับของ coronavirus ที่แยกได้จากค้างคาวเกือกม้า SARS-CoV-2 อยู่ในวงศ์ Coronaviridae มีสารพันธุกรรมเป็น ribonucleic acid (RNA) มีรูปร่างอนุภาคเป็นทรงกลมขนาดกลาง (60 - 140 นาโนเมตร) มีเปลือก envelope และแท่งโปรตีน spike (S) หุ้มรอบอนุภาค ชั้นในมี nucleocapsid (โปรตีน N) การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2020 องค์การอนามัยโลกประกาศสถานการณ์โควิด-19 ว่าเป็นการระบาดทั่วโลก ผู้ติดเชื้อมีทั้งแบบไม่แสดงอาการและแบบแสดงอาการ อาการที่แสดงออกทางคลินิกมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง บางรายถึงแก่ชีวิต การก่อพยาธิสภาพของ SARS-CoV-2 ในผู้ป่วยคือทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินหายใจ ในรายที่มีอาการรุนแรง มักพบภาวะปอดอักเสบรุนแรง การบาดเจ็บของหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งคาดว่าเกิดจากผลของการหลั่งของไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอย่างมากมาย ซึ่งเรียกว่า cytokine storm syndrome หรือกลุ่มอาการพายุไซโตไคน์ นำไปสู่การเกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome, ARDS) และเสียชีวิตในที่สุด การวินิจฉัยโรค COVID-19 ต้องตรวจพบ RNA ของเชื้อ SARS-CoV-2 จากผู้ป่วย โดยวิธี reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ติดต่อได้ง่าย มาตรการการป้องกันและควบคุมผู้ติดเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ เป็นต้น
คำสำคัญ
โควิด-19 SARS-CoV2 ปอดอักเสบ อาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง พายุไซโตไคน์