เภสัชบำบัดในโรคระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย: โรคท้องผูก (constipation) โรคท้องร่วง (diarrhea) และ โรคลำไส้แปรปรวน หรือ กลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (irritable bowel syndrome)
ชื่อบทความ |
|
เภสัชบำบัดในโรคระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย: โรคท้องผูก (constipation) โรคท้องร่วง (diarrhea) และ โรคลำไส้แปรปรวน หรือ กลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (irritable bowel syndrome) |
ผู้เขียนบทความ |
|
รศ.ดร.ภญ.ศิริมา มหัทธนาดุลย์ |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
รหัสกิจกรรม |
|
1004-1-000-002-11-2562 |
ผู้ผลิตบทความ |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
การเผยแพร่บทความ |
|
ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน |
วันที่ได้รับการรับรอง |
|
29 พ.ย. 2562 |
วันที่หมดอายุ |
|
28 พ.ย. 2563 |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
4 หน่วยกิต |
บทคัดย่อ
ลำไส้ใหญ่มีบทบาทหลักในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องประสานกันเพื่อให้มีการดูดซึมกลับของน้ำและ electrolytes และทำให้กากอาหารเคลื่อนไปสะสมในบริเวณ rectum รอการขับถ่ายออกทางทวารหนัก ดังนั้นการเกิดความผิดปกติของการหลั่งและการดูดซึมกลับของน้ำและ electrolytes เนื่องจาก โรค หรือยา รวมทั้งความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ทำให้กากอาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ช้าหรือเร็วกว่าปกติ ก็จะก่อให้เกิดโรคท้องผูก (constipation) หรือโรคท้องร่วง (diarrhea) ได้ นอกจากนี้มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเกิดโรคลำไส้แปรปรวนหรือมีอาการของลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (irritable bowel syndrome) จากการบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ที่ผิดปกติ โดยมีอาการปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องร่วง ท้องผูกสลับกับท้องร่วง หรือท้องร่วงสลับกับท้องผูก สาเหตุของการเกิดโรคท้องผูกมีได้ทั้งจากมิได้มีสาเหตุจากโรคและมีสาเหตุจากโรคทั้งโรคนอกระบบท่อทางเดินอาหารและโรคของระบบท่อทางเดินอาหารโดยตรง โรคท้องผูกที่เกิดจากโรคนั้นจำเป็นต้องหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว การใช้ยาระบายจะมีประโยชน์สำหรับโรคท้องผูกที่มิได้มีสาเหตุมาจากโรคเท่านั้น การเลือกใช้ยาระบายขึ้นกับนิสัยการขับถ่ายอุจจาระตามปกติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล พฤติกรรมเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระตามปกติ โรคประจำตัว การใช้ยาในช่วงที่ท้องผูก และยาระบายที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ในเรื่องขนาด ความถี่ของการใช้ยา ตลอดจนผลระบายของยาดังกล่าว การให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับถ่ายที่ถูกต้องและพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขอาการท้องผูกเบื้องต้นก่อนเริ่มใช้ยาระบาย ความเข้าใจผิดในเรื่องปกติวิสัยของการขับถ่ายอาจทำให้มีการใช้ยาระบายมากเกินความจำเป็น หรือ ใช้ยาในทางที่ผิด ที่นำไปสู่ภาวะขาดความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ได้โดยเฉพาะ potassium ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โรคท้องร่วงพบได้บ่อยในทุกภาคของประเทศไทย ในทุกชุมชน เกิดกับคนทุกเพศทุกวัย และพบได้ตลอดทั้งปี การสูญเสียน้ำและ electrolytes ในร่างกายที่มากเกินหรือการเสียเลือดเรื้อรังทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่สำคัญ ๆ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นการให้สารน้ำและเกลือแร่ชดเชยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อมีภาวะขาดน้ำร่วม โรคท้องร่วงเฉียบพลันโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากโรคซึ่งไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียในการรักษา การใช้ยาต้านแบคทีเรียเลือกใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เนื่องจากอาจสร้างปัญหาเชื้อดื้อยาและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่ม ยาหลักที่องค์การอนามัยโรคแนะนำให้ใช้สำหรับรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กเล็กคือ ผงเกลือแร่ และ zinc ส่วนยากลุ่มที่มีฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้แนะนำให้ใช้เฉพาะในผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนของไข้หรือถ่ายมูกเลือดและจำเป็นต้องใช้ยาเท่านั้น และใช้ยาในระยะสั้น 1-2 วัน การใช้ยากลุ่มนี้โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะทำให้เกิดภาวะท้องร่วงเรื้อรังหรือรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนของโรคลำไส้แปรปรวน ในปัจจุบันจึงยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานหรือรักษาอาการให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างร่วมกับเลือกใช้ยารักษาที่เหมาะสม การให้ยาระบายอาจจำเป็นในการบรรเทาอาการท้องผูก การให้ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้อาจช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง และการให้ยาแก้เกร็ง (antispasmodic drugs) อาจช่วยลดอาการปวดท้องได้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตใจร่วมด้วยอาจจำเป็นต้องให้การรักษาที่จำเพาะ เช่น การให้ยาแก้ซึมเศร้าร่วม
คำสำคัญ
Constipation, Diarrhea, Irritable bowel syndrome, Laxative, Antimotility
วิธีสมัครสมาชิก
ขณะนี้ทางหน่วยงานเปิดให้ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดและเริ่มทำแบบทดสอบได้โดยไม่จำกัดสิทธิ์แก่สมาชิก
และในปีใหม่นี้ เตรียมพบกับ web site ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในรูปแบบใหม่ได้ที่ http://cpe.pharmacy.psu.ac.th/ เพียงแค่สมัครสมาชิกกับทางเรา ท่านสามารถอ่านและทำแบบทดสอบบทความทางวิชาการ ตลอดจนติดตามข้อมูลข่าวสารงานประชุมของทางหน่วยงานได้เลย (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น)
เปิดรับสมาชิกใหม่ในเร็วๆ นี้ โปรดติดตามข่าวสารได้จากทางหน้า web site ดังกล่าวนะคะ