ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
โรคฟันผุ: สาเหตุ การป้องกัน และผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันฟันผุ
ชื่อบทความ โรคฟันผุ: สาเหตุ การป้องกัน และผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันฟันผุ
ผู้เขียนบทความ อาจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงพัทธ์ธีรา โสดาตา
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รหัสกิจกรรม 1017-1-000-004-08-2562
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 20 ส.ค. 2562
วันที่หมดอายุ 19 ส.ค. 2563
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคฟันผุเป็นปัญหาที่พบในหลายประเทศทั่วโลกและพบในทุกช่วงอายุ ในประเทศไทย ผลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ พบว่า โรคฟันผุพบในทุกช่วงวัยและพบมากในวัยเด็ก ชี้ให้เห็นว่าโรคนี้ยังคงเป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากอาการฟันผุส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวด ติดเชื้อ เสี่ยงต่อการสูญเสียฟัน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ โรคฟันผุเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยสาเหตุหลัก คือ เชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตร็ปโตคอคคัสที่สามารถย่อยสลายอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ติดอยู่ตามซอกฟัน และ ผลิตสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดแลกติค สารที่เป็นกรดเหล่านี้สามารถทำให้เกิดกระบวนการสลายแร่ธาตุที่เคลือบฟัน โดยปกติแล้วเมื่อเกิดการสลายแร่ธาตุ ร่างกายจะซ่อมแซมเคลือบฟันด้วยกระบวนการคืนแร่ธาตุ โดยใช้สารกลุ่มแคลเซียม ฟอสเฟต และฟลูออไรด์ ที่อิ่มตัวอยู่ในน้ำลาย สารกลุ่มแคลเซียมและฟอสเฟตสามารถซ่อมแซมเคลือบฟันด้วยการคืนไฮดรอกซีอะพาไทต์สู่เคลือบฟัน ในขณะที่สารฟลูออไรด์สามารถคืนแร่ธาตุเป็นสารฟลูอออะพาไทต์ ซึ่งสามารถทนต่อกรดได้มากกว่าไฮดรอกซีอะพาไทต์ อย่างไรก็ตาม ถ้าการสลายแร่ธาตุเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยไม่มีการคืนแร่ธาตุที่มากเพียงพอ จะทำให้เกิดรอยโรคฟันผุในที่สุด และ รอยโรคอาจลุกลามไปถึงฟันชั้นใน ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียฟัน การจัดการกับโรคฟันผุที่ดีที่สุด คือ การป้องกันโรค ไม่ใช่การรักษา และการป้องกันที่ดีคือการดูแลสุขอนามัยช่องปากที่ถูกต้องและทำเป็นประจำ ดังนั้น จึงมีระบบนำส่งยาเพื่อป้องกันฟันผุออกมาหลายรูปแบบ โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตัวยาเป็นสารเสริมการคืนแร่ธาตุ และ ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยายับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ผลิตภัณฑ์ที่ตัวยาเป็นสารเสริมการคืนแร่ธาตุ เช่น ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และ ครีมเคซีนฟอสโฟเปปไทด์-อะมอฟัสแคลเซียมฟอสเฟต เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยายับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เช่น น้ำยาบ้วนปากที่มีตัวยาคลอเฮกซิดีน น้ำยาบ้วนปากที่มีสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น เภสัชกรซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายมีบทบาทในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคฟันผุ รวมทั้งแนะนำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรคและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
คำสำคัญ
โรคฟันผุ การป้องกันโรคฟันผุ ผลิตภัณฑ์ป้องกันฟันผุ