ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
การอบรมเชิงปฏิบัติการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และการบริหารจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ชื่อการประชุม การอบรมเชิงปฏิบัติการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และการบริหารจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-032-09-2567
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อ.เมือง จ.ตรัง
วันที่จัดการประชุม 20 ก.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสังกัดเทศบาล จังหวัดตรัง จำนวน 200 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาในโรงพยาบาล และชุมชน เป็นปัญหาที่มีในประเทศไทย
มาหลายทศวรรษ ความปลอดภัยจากการใช้ยาในโรงพยาบาล และชุมชน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย ได้แก่ ผู้ใช้ยา ผู้สั่งใช้ยา ผู้ผลิต การกระจายยา และการกำกับดูแลตามกฎหมายยา จากการทบทวนงานวิจัย
ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้ยาขาดความรู้ที่ถูกต้อง มีความเชื่อที่ผิดๆ
และที่สำคัญมีแหล่งจำหน่ายยาที่ไม่เหมาะสม และ ผิดกฎหมายกระจายอยู่ทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข
ได้มีนโยบายและมีการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาการพัฒนาระบบบริการ
ให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU) เพื่อเป็นการคุ้มครองให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยยา
อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ลดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจและลดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งจากข้อมูลตัวชี้วัดด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาล จังหวัดตรัง ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา พบว่า
โรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด 10 ข้อ ใน 12 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 50 จากการวิเคราะห์ข้อมูล
มีการใช้ยาปฏิชีวนะไม่สอดคล้องตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งยาปฏิชีวนะเป็นยากลุ่มที่มีปริมาณการใช้ในอัตราที่สูงในสถานพยาบาล โดยปัญหาจากการใช้ยาในกลุ่มนี้อย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่มีเหตุจำเป็น การหยุดยาก่อนเวลาอันควร เป็นต้น อาจนำมาสู่ปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพ
และการรักษาผู้ป่วยที่ล้มเหลวได้ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มยาที่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีเภสัชจลนศาสตร์หรือเภสัชพลศาสตร์ของยาในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวลดลงได้ จึงต้องอาศัย
องค์ความรู้ที่ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ของโรคติดเชื้อและยาที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมเหตุผล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย สำหรับตัวชี้วัดด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด ร้อยละ 100 และผลการประเมินคุณภาพร้านชำกลุ่มเป้าหมาย ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 100 อย่างไรก็ตามมีร้านค้าปลีกจำนวนมาก ยังขายยาอันตราย เช่น ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งสเตียรอยด์
ที่เป็นยาควบคุมพิเศษ นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารสเตียรอยด์ เช่น ยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ยาผง ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยานํ้า ยาต้ม ยาหม้อกษัยเส้น ประดง เป็นต้น ดังนั้นการดำเนินการเชิงรุกในชุมชนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนให้มีทักษะในคุ้มครองตนเองและครอบครัวในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
การขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ได้แก่ คณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชุมชน เห็นความสำคัญ ทบทวนปัญหา แนวทางแก้ไข และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
พัฒนาศักยภาพให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความรู้ความเข้าใจนำไปสู่การปฏิบัติ การเฝ้าระวังความปลอดภัย
ด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเชิงรุกในสถานพยาบาลและในชุมชน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สามารถจัดการปัญหา
การใช้ยาไม่สมเหตุผลในชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
ในสถานบริการสุขภาพภาคเอกชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง โดยกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จังหวัดตรัง ปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ขึ้น
เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ให้บรรลุตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์
๑.เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้มีความรู้เกี่ยวกับ
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล และการบริหารจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
๒.เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชน เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลผ่านสื่อประชาสัมพันธ์
คำสำคัญ
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล