ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการการประยุกต์ใช้ข้อมูลของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง (Real World Data) และบทบาทของผู้ป่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายในประเทศไทยและต่างประเทศ
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการการประยุกต์ใช้ข้อมูลของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง (Real World Data) และบทบาทของผู้ป่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายในประเทศไทยและต่างประเทศ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-034-09-2567
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุม 206 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระบบ online
วันที่จัดการประชุม 05 -06 ก.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มผู้ป่วย บริษัทผู้ผลิตในภาคเอกชน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 8.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment, HTA) เป็นการประเมินคุณค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบโดยครอบคลุมถึงมิติต่างๆ ได้แก่ ความปลอดภัย ประสิทธิผล ต้นทุน ความคุ้มค่า ตลอดจนผลกระทบต่อองค์กร สังคม และจริยธรรม ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือผลวิจัยอันสามารถนำไปสู่การตัดสินใจในการใช้เทคโนโลยีทางสุขภาพให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อสังคม ในปัจจุบันได้มีการนำเอาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้กันอย่างแพร่หลายในระบบสุขภาพไทย โดยเฉพาะในการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ (Universal Coverage Benefits Package, UCBP) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ (National List of Essential Medicine, NLEM)

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศไต้หวัน ได้มีการนำข้อมูลของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง (Real World Data) มาประยุกต์ใช้ในการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย โดยมีการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและนำผลการวิเคราะห์มาใช้ในการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพซึ่งทำให้ผลการประเมินสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ป่วย นอกจากนี้ในประเทศดังกล่าว ผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในระบบสุขภาพที่มีมุมมองและประสบการณ์จากการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพและได้รับผลกระทบโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้นๆ มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ในกระบวนการการตัดสินใจในเชิงนโยบาย ตลอดจนในการผลักดันและสนับสนุนนโยบายการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยการประยุกต์ใช้ข้อมูลผู้ป่วยจากสถานการณ์จริยังมีข้อจำกัด และยังไม่ได้ถูกนำเอาข้อมูลมาใช้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในกระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของผู้ป่วยในกระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพยังมีข้อจำกัด ทำให้การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของผู้ป่วยยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ อันอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดและความไม่พึงพอใจต่อผลการพิจารณาสิทธิประโยชน์ได้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง (Real World Data) และบทบาทของผู้ป่วยสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในประเทศไทย โดยการส่งเสริมศักยภาพของนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มผู้ป่วย บริษัทผู้ผลิตในภาคเอกชน โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพประยุกต์โดยใช้ข้อมูลของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง (Real World Data) และการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยจากประเทศอังกฤษและไต้หวัน
วัตถุประสงค์
1.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้เข้าอบรมให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง (Real World Data) ในประเทศไทยและต่างประเทศ
2.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้เข้าอบรมให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบทบาทของผู้ป่วยในกระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์

คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
วันเวลาและสถานที่ของการประชุม วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 9.00–16.00 น. วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 9.00–12.00 น. ณ ห้องประชุม 206 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระบบ online ลิงก์ลงทะเบียน https://pharmacy.mahidol.ac.th/conference/info/index.php?conid=198 ค่าลงทะเบียน ค่าลงทะเบียนสำหรับอบรมที่คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล (onsite) 3,000 บาท ค่าลงทะเบียนสำหรับอบรมผ่านระบบ online 2,000 บาท ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ หลักสูตรการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ. ดร. ภญ.อุษา ฉายเกล็ดแก้ว ที่โทรศัพท์/โทรสารหมายเลข 0-2644-8694, E-mail: usa.chi@mahidol.ac.th คุณฐกัดแก้ว ผิวเหลือง ที่โทรศัพท์/โทรสารหมายเลข 095-562-1638, E-mail: thakatkaew@piw@mahidol.ac.th คุณรุชดา มะลิซ้อน ที่โทรศัพท์/โทรสารหมายเลข 085-020-7895, E-mail: ruchda.mal@mahidol.ac.th