ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
ประชุมวิชาการครบรอบ 60 ปี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "เภสัชกรรมแห่งอนาคต: แนวโน้มใหม่ของยาและยาชีววัตถุ (Future of Pharmacy: Emerging Trends in Drugs and Biologics)"
ชื่อการประชุม ประชุมวิชาการครบรอบ 60 ปี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "เภสัชกรรมแห่งอนาคต: แนวโน้มใหม่ของยาและยาชีววัตถุ (Future of Pharmacy: Emerging Trends in Drugs and Biologics)"
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-031-11-2567
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 15 พ.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่สนใจ จำนวน 200 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2509 ในฐานะโรงเรียนเภสัชศาสตร์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ เป็นสถานศึกษาสาขาเภสัชศาสตร์ แห่งแรกในภูมิภาค และเป็นแห่งที่สองในประเทศไทย ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นคณะเภสัชศาสตร์ ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2515 ปัจจุบันคณะฯ เปิดสอนหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 6 ปี) หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด (วุฒิบัตร) ร่วมกับ วิทยาลัยเภสัชบำบัด สภาเภสัชกรรม (พ.ศ. 2558) ทั้งยังมีการอบรมหลักสูตรระยะสั้นสำหรับเภสัชกรโรงพยาบาล ร่วมกับวิทยาลัยเภสัชบำบัด วิทยาลัยการบริหารเภสัชกิจ และวิทยาลัยสมุนไพร ด้านการบริการวิชาการเพื่อสังคมได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเภสัชชุมชน ตั้งแต่ พ.ศ.2528 เพื่อให้บริการด้านยาและสุขภาพแก่ประชาชน และเป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานสำหรับนักศึกษา และมีการขยายสาขาร้านยาสร้างเสริมสุขภาพ บริเวณศูนย์สุขภาพไผ่ล้อม ในปี พ.ศ.2555 และ ร้านยาพฤฒพลัง ในปี พ.ศ.2565 จัดตั้งศูนย์บริการเภสัชกรรม ในปี พ.ศ.2552 เพื่อให้บริการด้านการศึกษาวิจัยทางเภสัชกรรมโดยเฉพาะด้านการศึกษาชีวสมมูล (Bioequivalence) และการทดสอบสมบัติทางเภสัชกรรมของผลิตภัณฑ์ยา จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสมุนไพร เพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้วยการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสมุนไพรไทยใน ปี พ.ศ.2561 และในปี พ.ศ. 2566 ได้จัดตั้งศูนย์ DermX เพื่อให้บริการทดสอบด้านผิวหนังและเครื่องสำอาง นับเป็นการพัฒนาทั้งด้านวิชาการ การเรียนการสอน วิจัย และบริการวิชาการที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับยาและการรักษาโรคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากการเกิดขึ้นของโรคระบาด การคิดค้นวัคซีน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยซึ่งมักมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นำไปสู่การพัฒนายาใหม่ที่แตกต่างจากเดิม กลุ่มที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ ยาชีววัตถุ (Biologics) ที่ออกฤทธิ์อย่างตรงเป้าหมาย และมีส่วนประกอบและกระบวนการผลิตแตกต่างจากยาที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี ถือเป็นแนวโน้มสำคัญของวงการเภสัชกรรมในอนาคต เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2567 ทางคณะฯ จึงได้จัดกิจกรรมโครงการประชุมวิชาการ ครบรอบ 60 ปี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และอาจารย์บุคลากรในคณะฯ โดยแนวคิด (theme) ของงานประชุมวิชาการครบรอบ 60 ปี ได้แก่ “เภสัชกรรมแห่งอนาคต: แนวโน้มใหม่ของยาและ ยาชีววัตถุ (Future of Pharmacy: Emerging Trends in Drugs and Biologics)” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าในวงการวิชาชีพเภสัชกรรม ระบบสุขภาพของไทย รวมถึงยาและการรักษาใหม่ ๆ ภายในงานมีการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงและคณาจารย์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีการจัดบูธนิทรรศการผลงานของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากภาคเอกชน โดยงานประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการบริการวิชาการเผยแพร่ความรู้สู่ศิษย์เก่าและเภสัชกรผู้สนใจ โดยไม่เก็บค่าลงทะเบียน
วัตถุประสงค์
1. เพิ่มพูนความรู้ ติดตามองค์ความรู้ความก้าวหน้าทางเภสัชศาสตร์ที่ทันสมัย
2. แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความสัมพันธ์และร่วมรำลึกถึงความผูกพันระหว่างอาจารย์และศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
3. เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำสำคัญ
แนวโน้มใหม่ของยาและยาชีววัตถุ