ชื่อการประชุม |
|
การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 19 หลักสูตรเบื้องต้น |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
รหัสกิจกรรม |
|
1002-2-000-027-09-2567 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ |
วันที่จัดการประชุม |
|
30 ก.ย. 2567 - 01 ต.ค. 2567 |
ผู้จัดการประชุม |
|
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
ผู้บริหาร นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน นักศึกษา และผู้สนใจ |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
9.25 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program หรือ HITAP) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลัก คือ ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายด้านสุขภาพทั้งทางบวกและลบ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และทำให้การเลือกใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ HITAP ยังให้ความสำคัญและดำเนินงานเพื่อการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบาย ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และบริบทของระบบสุขภาพ โดยที่ผ่านมา HITAP ได้จัดการอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แก่บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 18 ปี โดยมีการพัฒนาเนื้อหา แบบฝึกหัด และรูปแบบการอบรมให้ทันสมัยในทุกปี
โดยทั่วไปการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ นิยมใช้ข้อมูลแบบผลรวม (aggregate data) เพื่อสร้างแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าฯ อย่างไรก็ตาม การสร้างแบบจำลองโดยใช้ข้อมูลแบบผลรวมจำเป็นต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual variability) ประกอบกับในปัจจุบันข้อมูลระดับบุคคล (person-level data) อาทิ ข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ การทดลองทางคลินิก หรือการศึกษาเชิงสังเกตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ประกอบการสร้างแบบจำลองสำหรับการประเมินความคุ้มค่าฯ ทาง HITAP ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญของการใช้ข้อมูลระดับบุคคลในการประเมินความคุ้มค่าฯ จึงได้จัดการอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคล (EE Using Personal-level data) ขึ้น
การอบรมนี้ดำเนินการโดยทีมวิจัย HITAP ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาการประเมินเทคโนโลยี
ทางการแพทย์และการวิเคราะห์ข้อมูลระดับบุคคล อีกทั้ง ยังมีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับ และได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง
ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การอบรมมุ่งเน้นทั้งการบรรยายเกี่ยวกับหลักการและรายละเอียดของวิธีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเข้าใจ สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการทำวิจัยได้จริง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านเรื่องราวและประสบการณ์จริงของวิทยากรผู้มีประสบการณ์ด้านการทำงานเชิงนโยบายจากหลากหลายภาคส่วน
การอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 19 แบ่งออกเป็น 4 หลักสูตร
ตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
1. หลักสูตรเบื้องต้น เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นเนื้อหาของการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในระดับพื้นฐาน ประกอบด้วย ความสำคัญ หลักการ แนวทางและขั้นตอนการประเมินความคุ้มค่าฯ รวมถึงการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และแนวโน้มของการประเมินเทคโนโลยีในอนาคต เหมาะสำหรับ ผู้ที่ไม่เคยผ่านการอบรมการประเมินความคุ้มค่าฯ หรือ ผู้ที่สนใจเรียนรู้และทำความเข้าใจการประเมินความคุ้มค่าฯ ในระดับพื้นฐาน
2. หลักสูตรเชิงปฏิบัติการ เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นเนื้อหาของการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยเน้นการปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างแบบจําลองทางเศรษฐศาสตร์ประเภทต่างๆ การค้นหาข้อมูลและการนําสถิติมาใช้ในแบบจําลอง การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแบบจําลองมาร์คอฟโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Microsoft Excel®) รวมถึงการเรียนรู้กรณีตัวอย่างในการประเมินความคุ้มค่าฯ สําหรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพอื่นๆ นอกเหนือจากยา เช่น Digital health และเครื่องมือแพทย์ เหมาะสำหรับ ผู้ที่เคยผ่านการอบรมในหลักสูตรเบื้องต้น หรือ มีประสบการณ์ทําวิจัยด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
3. หลักสูตรการนำไปใช้เชิงนโยบาย เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านแนวคิดและมุมมองของวิทยากรผู้มีประสบการณ์และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในรูปแบบเวทีทอล์ค (HTAlk) กับประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ภาพรวมของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการคลังสุขภาพ การนำข้อมูลของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพไปใช้ในการพัฒนา
ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและบัญชียาหลักแห่งชาติ แนวคิดในการจัดซื้อเทคโนโลยี
และการต่อรองราคา การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไปสู่ความยั่งยืน เหมาะสำหรับ ผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายหรือปฏิบัติงานด้านการนำยาหรือเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาดในภาครัฐและเอกชน หรือ ผู้มีประสบการณ์ทำวิจัยด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีความสนใจการนำการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพไปปรับใช้เชิงนโยบาย
4. หลักสูตรการใช้ข้อมูลระดับบุคคล เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการบรรยายหลักการและรายละเอียดของการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคล (EE Using Personal-level data) อาทิ การวิเคราะห์การถดถอย (regression analysis) เพื่อประมาณการอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental Cost-Effectiveness Ratio: ICER) และ Incremental Net Benefit (INB) การกําหนดลักษณะของความไม่แน่นอน (uncertainty) อันเกิดจากการใช้ข้อมูลระดับบุคคลในการประเมินความคุ้มค่าฯ การสื่อสารผลการประเมินความคุ้มค่าฯ พร้อมทั้งการฝึกปฏิบัติจริง เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีความเข้าใจพื้นฐานในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการวิเคราะห์การถดถอย (regression) หรือ ผู้ที่สนใจเรียนรู้และทำความเข้าใจการนำข้อมูลระดับบุคคลมาใช้ในการประเมินความคุ้มค่าฯ
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์การอบรม
1.เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการ แนวทาง และความสำคัญของการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการใช้ข้อมูลระดับบุคคลในการประเมินความคุ้มค่าฯ ให้กับบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ
2.เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความสามารถด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และเกิดการประยุกต์ใช้ข้อมูลของงานวิจัยในทางปฏิบัติหรือเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย
3.เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการนำผลงานวิจัยความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้เชิงนโยบาย และการจัดการนโยบายด้านสุขภาพในบริบทของประเทศไทย ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการจัดการด้านสุขภาพที่ยั่งยืน
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครและค่าลงทะเบียน
เปิดรับสมัครวันที่ 15 พฤษภาคม-31 สิงหาคม 2567 ผู้ที่สนใจสามารถสมัครอบรมผ่านทางระบบลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ http://eetraining.hitap.net/
หรือ https://dataworkshop.hitap.net (ไม่รับลงทะเบียนหน้างาน)
หลักสูตรหลักสูตรเบื้องต้น
รอบ Early Bird* 6,500 บาท
รอบปกติ 8,500 บาท
นักศึกษา**3,000 บาท
หมายเหตุ: *รอบ Early Bird ปิดรับลงทะเบียนภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2567
**โควตานักศึกษารับจำนวนไม่เกิน 10 คน
ข้าราชการสามารถเบิกจ่ายค่าลงทะเบียน ค่าเดินทางและค่าที่พักจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
และสามารถเข้าร่วมประชุมโดยไม่ถือเป็นวันลา นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เข้าอบรมครบตามหลักสูตร
ที่กำหนดสามารถขอรับหน่วยกิต CME, CDEC และ CPE ได้
ผู้ประสานงานการอบรม
พว.จิราธร สุตะวงศ์ ภญ.ปานทิพย์ จันทมา และนางสาวนิชาต์ มูลคำ
(สำหรับหลักสูตรเบื้องต้น หลักสูตรเชิงปฏิบัติการ และหลักสูตรการนำไปใช้เชิงนโยบาย)
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)
ชั้น 6 อาคาร 6 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี
โทรศัพท์ 02-590-4549, 02-590-4374-5 โทรสาร 02-590-4369
เว็บไซต์: http://eetraining.hitap.net/ และ https://dataworkshop.hitap.net/
อีเมล: eetraining@hitap.net