ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
การจัดอบรมเรื่อง การเลือกใช้ยาสมุนไพรในร้านขายยาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเบื้องต้น
ชื่อการประชุม การจัดอบรมเรื่อง การเลือกใช้ยาสมุนไพรในร้านขายยาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเบื้องต้น
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-028-06-2567
สถานที่จัดการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โปรแกรม Zoom Cloud Meeting)
วันที่จัดการประชุม 08 มิ.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ณ สถานที่ได้รับอนุญาตขายยา
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
หลักการและเหตุผล
ในประเทศไทยมีพืชสมุนไพรมากกว่า 10,000 ชนิด ซึ่งถูกนำมาใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์
ทั้งเพื่อเป็นส่วนประกอบในอาหาร เป็นยารักษาโรค ส่งเสริม ดูแลและรักษาสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแล
ความสวยงาม ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น โดยอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย ประเทศไทยมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยในระบบสุขภาพ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้ายาและวัตถุดิบจำนวนมากจากต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2
พ.ศ. 2566-2570 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนา เป้าหมาย จุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการฯ ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานต่างๆ ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหนึ่งในจุดเน้นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในแผนปฏิบัติการดังกล่าวคือ การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์การเข้าถึงสมุนไพรในระบบสุขภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประชาชนอาจแบ่งเป็น
2 รูปแบบ ได้แก่ 1) มีความต้องการใช้แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยพบว่าประชาชนที่เคยใช้สมุนไพรเป็นกลุ่มหลักที่มีการบริโภคหรือเข้าถึงอย่างต่อเนื่อง แต่รายการยาสมุนไพรบางรายการที่มิได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ทำให้ไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือใช้สิทธิประโยชน์ด้านยาสมุนไพรได้ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบต่างๆ และ 2) ผู้บริโภคหรือผู้สั่งจ่ายยาไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตไม่เชื่อมั่นในประสิทธิผลทางการรักษาของยาสมุนไพร แม้มีรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ สังเกตได้ตามการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐที่ยังมีค่อนข้างน้อยและไม่แพร่หลาย จากการสำรวจพบว่าการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมีการสั่งจ่ายเพียงร้อยละ 0.53 ของมูลค่าการใช้ยาในโรงพยาบาล ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย มีการใช้เพียงร้อยละ 2.78 ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลมีการส่งเสริมให้โรงพยาบาลใช้ยาจากสมุนไพรเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน (ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล, 2562) นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าร้อยละของประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยและเลือกใช้ยาสมุนไพรในการรักษามีเพียงร้อยละ 2.77 เท่านั้น และใน พ.ศ. 2566 พบว่าสถานการณ์การใช้ยาจากสมุนไพรลดลงจากเดิม อยู่ที่ร้อยละ 1.12 จากประชากรที่มีความเจ็บป่วยทั้งหมด
งานวิจัยโดยสุรศักดิ์ เสาแก้ว และคณะ (2563) กล่าวถึงปัญหาที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและการบริการด้านยาสมุนไพรของประเทศไทยในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย 1) ปัญหาวัตถุดิบสมุนไพรที่ขาดแคลน บางชนิดหาได้ยากและวัตถุดิบขาดคุณภาพ 2) ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่พบการปลอมปนและปนเปื้อนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ตกมาตรฐานและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค 3) ปัญหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการผลิตยาจากสมุนไพรที่มักจะเป็นรายย่อยขาดความชำนาญในการพัฒนาสูตรตำรับและผลิตยาให้เป็นมาตรฐานตามข้อกำหนดของภาครัฐและต้องแข่งขันกับการผลิตในภาครัฐทำให้กระทบต่อโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสมุนไพรในประเทศ 4) ปัญหาการไม่มีข้อกำหนดมาตรฐาน (Specification) เกี่ยวกับวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร และ 5) ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรส่งผลให้เกิดความ
ไม่มั่นใจในยาสมุนไพร ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป จากงานวิจัยของพนิดา โนนทิง และคณะ (2556) ได้วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐพบว่าปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ รายการยาสมุนไพรที่พบว่าไม่เพียงพอต่อการรักษา รวมถึงทัศนคติต่อยาแผนไทยของสหวิชาชีพ อีกทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและประชาชนไม่ทราบว่าศาสตร์การแพทย์แผนไทยรักษาโรค/กลุ่มโรคอะไรได้บ้าง และขาดความเชื่อมั่น
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยสถาบันการแพทย์แผนไทย มีภารกิจหลัก
ในการจัดการและพัฒนาวิชาการ รวมถึงให้บริการวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน กำหนดพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรและจัดทำตำรามาตรฐานยาแผนไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์แผนไทย
ได้มีการขับเคลื่อนการผลิตยาจากสมุนไพร เพื่อสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่น โดยสามารถแบ่งตามห่วงโซ่คุณค่าในการดำเนินงาน ดังนี้
ระยะต้นทางเกี่ยวข้องกับการจัดการองค์ความรู้ทางเภสัชกรรมไทย ในด้านข้อมูลวัตถุดิบสมุนไพร
ได้จัดทำข้อมูลวัตถุดิบสมุนไพรไปแล้วมากกว่า 300 รายการ จากเครื่องยาสมุนไพรที่ใช้บ่อยมากกว่า 500 รายการ และนำรายการสมุนไพรดังกล่าวมาจัดทำข้อมูลการแปรรูปสมุนไพรเบื้องต้น สำหรับการจัดการองค์ความรู้
การตั้งตำรับยาแผนไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาตำรับยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และการเรียนการสอนทางการแพทย์แผนไทย รวมไปถึงการนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาให้บริการวิชาการตั้งตำรับยาตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย และให้แพทย์แผนไทยใช้ในการพิจารณาการตั้งตำรับยาปรุงเฉพาะราย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารูปแบบบริการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ในกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ๕ กลุ่มโรค ประกอบด้วย โรคสะเก็ดเงิน การดูแลมารดาหลังคลอด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะกลาง และผู้ป่วยระยะประคับประคอง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่การแพทย์แผนไทยมีศักยภาพในการรักษา สามารถใช้องค์ความรู้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานในการบูรณาการรักษาคู่ขนานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการกำหนด พัฒนาคุณภาพมาตรฐาน กลไกการรับรองเกี่ยวกับการผลิตยาจากสมุนไพรและตำรับยาแผนไทย นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับสู่บุคคลากรทางการแพทย์และประชาชน
ระยะกลางทางเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการผลิตและการควบคุมคุณภาพของยาจากสมุนไพรที่ผลิตจากโรงพยาบาลของรัฐตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร ใช้แนวทางตามองค์การอนามัยโลก (WHO guidelines on good manufacturing practices (GMP) for herbal medicines) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพ และความปลอดภัย มีระบบการบริหารจัดการที่ดีในการผลิตยาสมุนไพร มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมถึงมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานการผลิตยาจากสมุนไพร ให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานตามแนวทาง WHO GMP มีการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต เพื่อให้กระบวนการผลิตยาจากสมุนไพรเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตที่ดี WHO GMP กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ จำนวน 52 แห่ง ผ่านมาตรฐาน GMP จำนวน 46 แห่ง และยังไม่ผ่าน จำนวน 6 แห่ง ซึ่งกรมฯ จะทำการเร่งพัฒนาและติดตามเพื่อให้ผ่านมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องมีการติดตามและตรวจประเมินต่ออายุการรับรองโรงพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานแล้ว ทุก 3 ปี เพื่อรักษามาตรฐานให้การผลิตยาจากสมุนไพรของโรงพยาบาลรัฐมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2566 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับผู้ได้รับยกเว้นตามมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2566 ที่บังคับใช้กับโรงพยาบาลของรัฐที่มีการผลิตยาจากสมุนไพร ซึ่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาจากสมุนไพรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ตามสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนามาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยการจัดทำตำรามาตรฐานยาแผนไทย (Thai Herbal Preparation Pharmacopoeia) เป็นตำราตามประกาศภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 โดยตำราฉบับปัจจุบันเป็นฉบับ พ.ศ. 2565 ประกอบไปด้วยเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับควบคุมคุณภาพยาแผนไทยจำนวน 24 ตำรับ ครอบคลุมรายการยาแผนไทยตามบัญชียาจากสมุนไพร 8 กลุ่มอาการ ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ยารักษากลุ่มอาการ สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ยารักษากลุ่มอาการไข้ ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ยาบำรุงธาตุปรับธาตุ รวมถึงยาช่วยนอนหลับ/เจริญอาหาร แต่รายการตำรับยาแผนไทย ยังไม่ครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรพ.ศ. 2566 จำนวน 62 ตำรับ ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานยาแผนไทยเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในตำรามาตรฐานยาแผนไทยที่มีการจัดพิมพ์ฉบับใหม่ทุก 2 ปี ซึ่งเนื้อหาของตำราประกอบด้วยข้อมูลมาตรฐาน ตำรับยาใหม่ที่ได้จัดทำเพิ่มเติม และมีการปรับปรุงข้อมูลหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบันที่ประกาศเพิ่มเติมทุกปี ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์จากผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องยังขาดองค์ความรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนามาตรฐานการผลิตและควบคุมคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ/ผู้ประกอบวิชาชีพ/ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ณ สถานที่ผลิตยาจากสมุนไพรทั้งภาคเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสถานที่ผลิตและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพในระบบบริการสุขภาพ ส่งผลให้ผู้สั่งใช้และผู้บริโภคยาแผนไทยเกิดความเชื่อมั่น และมีการใช้ยาแผนไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบสมุนไพรเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทั้งระบบตามห่วงโซ่เศรษฐกิจ
ระยะปลางทางเกี่ยวข้องกับการกำหนดและการจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพรโดยมีแนวคิดจากการที่ยาสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของประชาชนมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน
สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีการจัดซื้อ จัดหายาจากสมุนไพรมาใช้ในหน่วยงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้
ยาจากสมุนไพรของประชาชน การจัดซื้อยาจากสมุนไพรของหน่วยบริการมีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสองประการคือ คุณภาพและความเหมาะสมของราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยาจากสมุนไพรบางรายการที่มีผู้จำหน่ายหลายราย
มีการแข่งขันเสรี ยาเหล่านี้จึงมีราคาแปรผันมาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2557 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีมูลค่า 346,389 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.0 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพดังกล่าวสามารถแบ่งเป็นค่ารักษา 201,395 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่ายามีมูลค่า 144,994 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.19 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่ายามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2558 คิดเป็น 153,697 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2559 คิดเป็น 162,917 ล้านบาท จากข้อมูลการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการจัดทาบัญชีรายจ่ายแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า การบริโภคยาผ่านโรงพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 62.52 โดยร้อยละ 75 ของมูลค่าการกระจายยาผ่านโรงพยาบาลทั้งหมดเป็นการกระจายยาผ่านโรงพยาบาลของรัฐ การบริโภคยาผ่านโรงพยาบาลภาครัฐจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของมูลค่าการบริโภคยาในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้พัฒนาหลักเกณฑ์การดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อยา ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 โดยยึดหลักความคุ้มค่า ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ ประกอบกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่บังคับให้การจัดซื้อจัดหายาจากสมุนไพรต้องมีราคากลางอ้างอิงประกอบการจัดซื้อ จึงเป็นที่มาให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำเป็นต้องดำเนินการจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพร เพื่อเป็นฐานข้อมูลประกอบการจัดซื้อจัดจ้างของสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เป้าหมายในการจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพรคือจัดทำราคากลางยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ โดยเรียงลำดับการจัดทำจากรายการที่มีมูลค่าการใช้สูงสุดไปยังมูลค่าน้อยสุด และจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพรนอกบัญชียากลักแห่งชาติในรายการที่มีมูลค่าการใช้สูง ในปีงบประมาณ 2566 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำกรอบแนวทางและขั้นตอนการจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพร และได้ราคากลางยาจากสมุนไพร จำนวน 43 รายการ ปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าหมายจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพรให้ได้อย่างน้อย 30 รายการ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรในประเทศของทุกภาคส่วน จึงมีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบสุขภาพภายใต้การสนับสนุนนโยบายด้านการเงินการคลัง ด้วยการให้เบิกจ่ายค่ายาจากสมุนไพรตามรายการบริการ (Fee Schedule) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน ๒ หน่วยบริการ คือ สถานพยาบาลของรัฐ โดยสนับสนุนให้ใช้ยาจากสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันในสถานพยาบาล และร้านขายยา โดยสนับสนุนให้มีการจ่ายยาจากสมุนไพรสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั้งหมด ๑๖ กลุ่มอาการในร้านขายยา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลและเภสัชกรในร้านขายยา มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับยาจากสมุนไพรตามหลักการแพทย์แผนไทย นอกเหนือจากด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้บริการผู้ป่วยด้วยความมั่นใจ รวมทั้งประชาชนผู้มารับบริการและประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจเกี่ยวกับยาจากสมุนไพรและใช้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการอบรมให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการใช้ยาจากสมุนไพรตามหลักการแพทย์แผนไทยรวมถึงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีผลให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถให้บริการและเบิกจ่ายค่าตอบแทนได้ตามหลักเกณฑ์ฯ ทั้งนี้ประชาชนก็ต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับยาจากสมุนไพรที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์แผนไทย เพื่อเพิ่มความรอบรู้เกี่ยวกับการใช้ยาจากสมุนไพรและองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย เชื่อมั่นและใช้ยาจากสมุนไพรได้ถูกต้องเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐา ทวีสิน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรและสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นของยาสมุนไพร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางยาจากสมุนไพรผ่านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการผลิตยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐและภาคเอกชน
ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพมาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน สหวิชาชีพ ในการใช้ยาสมุนไพร และตำรับยาแผนไทยในระบบสุขภาพ ภายใต้กิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต การควบคุมคุณภาพยาจากสมุนไพร และการใช้ยาจากสมุนไพรอย่างถูกต้องเหมาะสมให้แก่ผู้ประกอบการ/ผู้ประกอบวิชาชีพ และประชาชน ในการสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อการใช้ยาจากสมุนไพร, จัดทำมอโนกราฟตำรับยาแผนไทยในกลุ่มโรคที่การแพทย์แผนไทยมีศักยภาพในการรักษา 5 กลุ่มโรค, จัดทำต้นฉบับตำรามาตรฐานยาแผนไทย พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์, ติดตามและตรวจประเมินมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) เพื่อให้ยาที่ผลิตจากโรงพยาบาลของรัฐมีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย อีกทั้งยังมีการจัดทำราคากลางยาจากสมุนไพร เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคายาจากสมุนไพรที่เป็นธรรม และส่งเสริมระบบควบคุมราคายาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สมุนไพร นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการใช้ยาสมุนไพรในประชาชน ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยทรัพยากรสมุนไพรของประเทศและจากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทยต่อไป
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์
1.เพื่อสร้างความมั่นคงทางยาจากสมุนไพรผ่านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการผลิตยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐและภาคเอกชน ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพมาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
2.เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน สหวิชาชีพ ในการใช้ยาสมุนไพร และตำรับยาแผนไทยใน
ระบบสุขภาพ
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
กลุ่มงานส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 02-591-7007 ต่อ 3411, 063-203-8954