ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
การพัฒนาระบบยาในโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ (รุ่นที่ 1)
ชื่อการประชุม การพัฒนาระบบยาในโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ (รุ่นที่ 1)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-2-000-005-05-2567
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุมปิติพัฒน์ ชั้น 2 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
วันที่จัดการประชุม 19 ก.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
กลุ่มเป้าหมาย นายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรม และเจ้าหน้าที่พยาบาล 84 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ระบบยาเป็นระบบงานที่สำคัญของมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5 และมีการทำงานร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล กระบวนการที่สำคัญของระบบยาประกอบด้วย การคัดเลือกและจัดหายา การสั่งใช้ยา การเตรียมยาและจ่ายยา การบริหารยา และการติดตามการใช้ยา เป้าหมายในการพัฒนาระบบยาที่สำคัญ คือ เพื่อให้เกิดการจัดการด้านยา การใช้ยาที่ปลอดภัยเหมาะสมและได้ผล พร้อมทั้งมียาคุณภาพสูงพร้อมใช้สำหรับผู้ป่วยตลอดเวลา ระบบการทำงาน ต้องมีความไวเพียงพอในการค้นหาปัญหา การป้องกันการเกิดปัญหาด้านยาซ้ำ มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อนำข้อมูลปัญหา ความเสี่ยง หรืออุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยา เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามาวิเคราะห์ เพื่อนำไปพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบยาสำหรับบุคลากรทีมสหสาขาวิชาชีพ จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานพัฒนาระบบยามีความต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยมีความความปลอดภัยในการใช้ยา เข้าใจหลักการในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลและนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย แต่ละรายอย่างเหมาะสมได้
โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ มีความตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ป้องกันการเกิดปัญหาด้านยาซ้ำ มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี จัดการความเสี่ยง ลดปัญหาหรืออุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยา จึงเห็นสมควรจัดให้มีการประชุมอบรมขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทีมสหสาขาวิชาชีพ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดการระบบยาในโรงพยาบาล การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ
2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปดำเนินการป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาและป้องกันการเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนร่วมงานและบุคลากรอื่น ๆ ตลอดจนผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสม
3. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็นความสำคัญและมีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบยา และสามารถให้การบริการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยา
คำสำคัญ
Acute Coronary Syndrome, Medication Error, Common Pitfalls, Respiratory medication