ชื่อการประชุม |
|
การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง The 4th ASEAN PharmNET 2024 Conference |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
รหัสกิจกรรม |
|
1002-2-000-022-06-2567 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท |
วันที่จัดการประชุม |
|
12 -14 มิ.ย. 2567 |
ผู้จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
นักวิจัย นักวิชาการ เภสัชกร นักศึกษาเภสัชศาสตร์ และผู้สนใจ |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
10.75 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาความเป็นนานาชาติในทุกพันธกิจของคณะฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและยกระดับศักยภาพด้านการวิจัยและการเรียนการสอนด้านเภสัชศาสตร์ในระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการสถาบันอุดมศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ชั้นนำของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ Hanoi University of Pharmacy และ Faculty of Pharmacy, University of Medicine & Pharmacy at Ho Chi Minh City และในปี พ.ศ. 2540 ได้ริเริ่มการจัดงานประชุมวิชาการ “Indochina Conference on Pharmaceutical Sciences (Pharma-Indochina)” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพหลัก และได้มีการจัดงานประชุมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกๆ 2 ปี โดยตัวแทนของทั้งสองประเทศได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ “The 1st MU-ASEAN Pharmacy Education Network Meeting” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยคณะฯ ได้เชิญคณบดีคณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหมด 11 สถาบันในกลุ่มประเทศอาเซียนมาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย และมติจากที่ประชุมในครั้งนี้ จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “Letter of Intent to Collaborate” ระหว่าง 12 มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้มีการเปลี่ยนชื่อการประชุมจาก “Indochina Conference on Pharmaceutical Sciences (Pharma-Indochina)” เป็น “International Conference on Pharmacy Education and Research Network of ASEAN” หรือ “ASEAN PharmNET I” โดยมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมครั้งแรก ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำจาก 11 สถาบันในกลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ณ โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Harmonizing the Diversity of Pharmacy Profession in the Era of AEC” สำหรับการจัดประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าวในครั้งถัดมา กล่าวคือ การประชุมวิชาการนานาชาติ The 2nd ASEAN PharmNET 2017 Conference ได้ถูกจัดโดย Faculty of Pharmacy, Universiti Kebangsaan Malaysia ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศ และการประชุมวิชาการนานาชาติ The 3rd ASEAN PharmNET 2019 Conference มี Faculty of Pharmacy, Gadjah Mada University เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) นี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม The 4th ASEAN PharmNET 2024 Conference (The Fourth International Conference on Pharmacy Education and Research Network of ASEAN) ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2567 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) และ เครือข่ายความร่วมมือการศึกษาเภสัชศาสตร์ ระหว่าง คณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย และ คณะเภสัชศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-Thai Pharmacy Education Consortium) ภายใต้แนวคิดหลัก “Global Collaboration in Pharmacy Education, Practice & Research: Bridging Borders for Health Innovation” โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเชื่อมประสานความร่วมมือของเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมในระดับภูมิภาคสู่ระดับสากล อันจะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก และตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ มติที่ประชุมคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ภายใต้เครือข่าย ASEAN PharmNET เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 4th ASEAN PharmNET 2024 Conference ร่วมกับ การประชุมวิชาการนานาชาติ The 2024 US-Thai Pharmacy Education Consortium Meeting: 30th Anniversary Commemoration เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของเครือข่ายความร่วมมือการศึกษาเภสัชศาสตร์ ระหว่าง คณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย และ คณะเภสัชศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-Thai Pharmacy Education Consortium) อีกด้วย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีในการบรรลุเป้าหมายสำคัญของกิจกรรมในครั้งนี้
ดังนั้น การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง The 4th ASEAN PharmNET 2024 Conference in conjunction with the 2024 US-Thai Pharmacy Education Consortium Meeting: 30th Anniversary Commemoration จึงถูกจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเวทีระดับนานาชาติในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าทางการศึกษาและการวิจัยในสาขาเภสัชศาสตร์ เภสัชกรรม เภสัชศาสตร์ศึกษา และวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาต่างๆ ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย เภสัชกรวิชาชีพ และนักศึกษาจากทั่วโลก พร้อมทั้งยกระดับเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และวิชาชีพให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลก โดยมี คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนและอเมริกา และมีบทบาทหลักในการผสานความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของเครือข่ายความร่วมมือ US-Thai Pharmacy Education Consortium อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมการประชุมวิชาการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 คือ กิจกรรม Pre-conference Activities ได้แก่ Deans' and Representative Meeting และ Pharmacy Student Meeting and Networking ในวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
ส่วนที่ 2 คือ การประชุมวิชาการนานาชาติ (Scientific Conference) ระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วย Plenary Session และ Concurrent Sessions จำนวน 8 สาขา ดังนี้
1) Biopharmaceutical Sciences and Pharmaceutical Biotechnology (BB)
2) Clinical Pharmacy and Personalized Medicine (CP)
3) Pharmaceutical Chemistry (PC)
4) Pharmaceutical Education and Practice (PE)
5) Pharmaceutical Technology and Drug Delivery (PD)
6) Pharmacology, Toxicology, and Physiology (PP)
7) Phytopharmaceuticals and Nutraceuticals (PN)
8) Social and Administrative Pharmacy (SP)
โดยในการประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าว คณะฯ ได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำวิชาการในระดับโลกมาร่วมงาน เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายวิชาการที่เข้มแข็งและแสดงศักยภาพของคณาจารย์และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ของคณะฯ สู่สายตาของนักวิชาการเหล่านั้นและผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัย รวมถึงภาพลักษณ์ของคณะฯ ในระดับสากล ตอบสนองวิสัยทัศน์ของคณะฯ ในการเป็นสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล สู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และสนับสนุนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก (World Class University)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเวทีระดับนานาชาติในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าทางการศึกษาและการวิจัยในสาขาเภสัชศาสตร์ เภสัชกรรม เภสัชศาสตร์ศึกษา และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง ผ่านการนำเสนอผลงานทางวิชาการและวิจัยระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย เภสัชกรวิชาชีพ และนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก
2. เพื่อยกระดับเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และวิชาชีพให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลก โดยมีคณะฯ เป็นศูนย์กลางระหว่างภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และอเมริกา และมีบทบาทหลักในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ในระดับสากล สู่การเป็นสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล สู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
3. เพื่อส่งเสริมและสื่อสารความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัย รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของคณะฯ รวมถึงเครือข่ายสมาชิกคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ
4. เพื่อกระชับและธำรงรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับสถาบันการศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างชาติ
- สมัครและโอนเงิน ภายใน 30 เมษายน 2567 250 USD
- สมัครและโอนเงิน หลัง 30 เมษายน 2567 300 USD
นักศึกษาชาวต่างชาติ (ทุกระดับการศึกษา) 100 USD
ผู้ติดตามชาวต่างชาติ* 50 USD
ผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทย 5,000 บาท
นักศึกษาชาวไทย 3,500 บาท
ผู้ติดตามชาวไทย* 1,750 บาท
หมายเหตุ:
• ค่าลงทะเบียน รวมค่าเอกสารประกอบการประชุม อาหารกลางวัน อาหารว่าง และการเลี้ยงรับรอง
• ผู้ติดตามชาวต่างชาติและชาวไทย เข้าร่วมได้เฉพาะการเลี้ยงรับรองในคืนวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เท่านั้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบ: งานวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ และ หน่วยสนับสนุนการจัดกิจกรรมวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 02-354-3517 โทรสาร 0-2354-4326 หรือ Email: aseanpharm.net@gmail.com