ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
หลักสูตรประกาศนียบัตรฝึกอบรมระยะสั้นทางเภสัชกรรมสมุนไพร ปี 2567
ชื่อการประชุม หลักสูตรประกาศนียบัตรฝึกอบรมระยะสั้นทางเภสัชกรรมสมุนไพร ปี 2567
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-023-05-2567
สถานที่จัดการประชุม Hybrid Learning
วันที่จัดการประชุม 04 พ.ค. 2567 - 30 ก.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เป็นเภสัชกร หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ หรือ มีประสบการณ์ทำงานด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันมีกระแสความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อจำหน่ายทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความหลากหลายทางชีวภาพด้านสมุนไพรของประเทศไทย ทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทแห่งชาติด้านสมุนไพร (พ.ศ. 2560-2564) และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยจึงมีความสำคัญยิ่งต่อบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและสร้างรายได้ของประเทศ ดังนั้นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม (สาขาการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร) จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ และทักษะในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร เพื่อนำไปสู่การมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีคุณภาพที่ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจร โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่ผ่านการอบรมมีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้และเข้าใจแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ สารสกัดและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น การแยกเตรียมสารสกัด การทดสอบประสิทธิผลของสารสกัด การออกแบบรูปแบบและการตั้งตำรับของผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้วยเทคโนโลยีทางเภสัชกรรมที่ทันสมัยและเหมาะสมต่อการนำส่งสารสำคัญ การทดสอบความคงตัว และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีคุณภาพและมีประสิทธิผล ที่สามารถนำไปสู่การขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถ
1) อธิบายกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร
2) อธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนและการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร
3) วิเคราะห์ความต้องการผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
4) ประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพร
5) พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ
6) ทดสอบคุณภาพและความคงสภาพ
7) ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
คำสำคัญ
สมุนไพร