ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 25 “Ensuring Quality: A Deep Dive into Pharmaceutical Injectable Products”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 25 “Ensuring Quality: A Deep Dive into Pharmaceutical Injectable Products”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-008-05-2567
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมซีซี รีสอร์ท อ.ละงู จ.สตูล
วันที่จัดการประชุม 25 -26 พ.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย 1. เภสัชกรโรงพยาบาลเครือข่ายสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) 2. เภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 3. เภสัชกรผู้สนใจอื่นๆ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เนื่องจากโรคแต่ละโรคนั้นสามารถเลือกใช้ยารักษาโรคได้หลายประเภท หลายกลุ่ม อีกทั้งยามีความแตกต่างกันในเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ อาการข้างเคียง และความเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเป็นเด็ก เป็นโรคตับ เป็นโรคไต หรือแพ้ยา รวมถึงแม้แต่ยาชื่อสามัญเดียวกันยังมีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันและมีหลายชื่อการค้า โรงพยาบาลต่างๆจึงจำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกยาที่เหมาะสมเพื่อมาใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกยา โดยทั่วไปจะอ้างอิงตามคุณลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยา สำหรับยาปราศจากเชื้อ ซึ่งคือ ยาที่ผลิตขึ้นซึ่งไม่มีจุลินทรีย์ปนเปื้อน โดยการทำลายหรือกำจัดจุลินทรีย์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น นึ่ง อบ ใช้ก๊าซ และการฉายรังสี ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาเหล่านี้ คือ ยาฉีด ยาตา และน้ำยาล้างไต ซึ่งยาฉีด เป็นหนึ่งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยาฉีดแต่ละชนิด มีคุณสมบัติพื้นฐาน การตรวจวิเคราะห์ การควบคุมคุณภาพรวมไปถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์ด้านคุณภาพของยา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องศึกษาและเข้าใจ สำหรับยาฉีดไม่ว่าจะเป็นยาที่มีโครงสร้างเป็น ยาเคมี (Chemicals) หรือ ยาชีววัตถุ (Biologics) เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องพิจารณา ประกอบกับส่วนของเกณฑ์ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในกรณีที่ไม่ได้เป็นยาต้นแบบ การพิสูจน์ว่ายานั้นมีความเท่าเทียมกันทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical equivalence) และมีชีวสมมูล (Bioequivalence) กับยาต้นแบบ ทำให้มั่นใจได้ว่ายานั้นมีความเท่าเทียมกันทางผลการรักษา (Therapeutic equivalence) ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยามีโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพดีและราคาสมเหตุสมผลได้มากขึ้น
ทั้งนี้เภสัชกร ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยาที่ต้องจัดซื้อ ว่ายาแต่ละรายการควรมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไรโดยอ้างอิงหลักวิชาการ เนื่องจากยาที่ผลิตจากแต่ละผู้ผลิตอาจมีแหล่งวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา ดังนั้นเภสัชกรจึงควรต้องศึกษาค้นคว้าและติดตามข้อมูลข่าวสารด้านยายู่เสมอ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดหาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพที่เหมาะสมและนำไปใช้กับผู้ป่วยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องคุณภาพและสิ่งที่จำเป็นในการพิจารณาคุณภาพของยาฉีด รวมไปถึงสารเจือปนในผลิตภัณฑ์ยา แก่เภสัชกรโรงพยาบาล
2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประเมินคุณภาพการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) และ เภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamics) ของยาชื่อสามัญในส่วนของข้อมูลชีวสมมูล
3. เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการตั้งเกณฑ์การคัดเลือกยาชื่อสามัญ
คำสำคัญ
Injectable Products, Impurities, ISO 17025, PK/PD, Pharmaceutical Equivalence