การออกแบบงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบยาและสุขภาพ (ร่วมกับโครงการอบรมระยะสั้นทางการบริหารเภสัชกิจ)
ชื่อการประชุม |
|
การออกแบบงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบยาและสุขภาพ (ร่วมกับโครงการอบรมระยะสั้นทางการบริหารเภสัชกิจ) |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
รหัสกิจกรรม |
|
1009-2-000-004-05-2567 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
วันที่จัดการประชุม |
|
13 -17 พ.ค. 2567 |
ผู้จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
เภสัชกร |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
30 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
การบริหารเภสัชกิจมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดเวลา การปฏิบัติต้องอาศัยความรู้และทักษะการบูรณาการเภสัชศาสตร์ร่วมกับศาสตร์สาขาอื่นในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยและประชาชนให้สามารถเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเมื่อต้องการและมีการใช้อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด วิทยาลัยการบริหารเภสัชกิจแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ตระหนักถึงความเป็นพลวัตของบทบาทเภสัชกรในการจัดการอุปสงค์และอุปทานด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่าเภสัชกรรมในระบบสุขภาพให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การบริการสุขภาพ รวมถึงข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้
เภสัชกรผู้ปฏิบัติในบทบาทหน้าที่ดังกล่าวทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน มีความจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านบริหารเภสัชกิจอย่างต่อเนื่อง จักเป็นประโยชน์ให้ระบบยาและสุขภาพมีการพัฒนาไปอย่างมั่นคง เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมต่อไป
การวิจัยและพัฒนางานเภสัชกรรมและระบบสุขภาพ (Research and Development of Pharmacy and Health System)
มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของเภสัชกรและบุคลากรด้านสุขภาพในการปฏิบัติงานตามห่วงโซ่อุปทานของระบบยา การบริหารจัดการเชิงระบบและปรับปรุงพัฒนาระบบงานบนฐานขององค์ความรู้เพื่อนำสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อาทิ การวิจัยและพัฒนางานบริหารเวชภัณฑ์และการกระจายยาไปยัง รพสต. การผลิตยาและสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย การดูแลผู้ป่วยทั้งระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การจัดการระบบยาและสุขภาพในชุมชนและในสถานพยาบาล และการควบคุมกำกับกฎหมายข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยและประชาชนให้มีความปลอดภัยในการใช้ยา ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ ตลอดจนการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม
นอกจากนี้การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยด้านยาและสุขภาพ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการทำวิจัยทั้งระดับบุคคลและองค์กร และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพและยกระดับองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระบบของการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เน้นให้บุคลากรมีการทำวิจัย และกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ทำวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร องค์ความรู้และประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขและสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ มีการกำหนดให้บุคลากรสามารถขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการในระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ โดยผู้ขอรับการประเมินต้องมีผลงานวิชาการในลักษณะงานวิจัยที่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพของตนเพื่อพัฒนาสมรรถนะ ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพและประกอบการพิจารณาเพื่อเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวิทยาลัยการบริหารเภสัชกิจแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการบริหารเภสัชกิจระยะสั้น การวิจัยและพัฒนางานเภสัชกรรมและระบบสุขภาพขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการส่งเสริมสถาบันหลักและสถาบันสมทบในการจัดทำโครงการฝึกอบรมด้านการบริหารเภสัชกิจ
วัตถุประสงค์
1) เพื่อจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้านการบริหารเภสัชกิจในการวิจัยและพัฒนางานเภสัชกรรมและระบบสุขภาพสำหรับเภสัชกร
2) เพื่อจัดประชุมวิชาการในการวิจัยและพัฒนางานเภสัชกรรมและระบบสุขภาพสำหรับเภสัชกร บุคลากรสุขภาพและผู้สนใจทั่วไป
3) เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนางานเภสัชกรรมและระบบสุขภาพ
คำสำคัญ
การบริหารเภสัชกิจ วิจัยและพัฒนา
วิธีสมัครการประชุม
https://pharmacy.msu.ac.th/th/?page_id=5798