ชื่อการประชุม |
|
โครงการพัฒนาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคลมชักอย่างถูกต้องเหมาะสมของประเทศไทย |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
รหัสกิจกรรม |
|
1002-2-000-018-05-2567 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
ณ โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ |
วันที่จัดการประชุม |
|
17 พ.ค. 2567 |
ผู้จัดการประชุม |
|
กลุ่มงานเภสัชกรรม สถาบันประสาทวิทยา |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
6 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยและพบได้ในทุกกลุ่มอายุ เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก มีอุบัติการณ์ประมาณ 20-50 ต่อประชากรแสนคน โดยประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย จะอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น มีผู้ป่วย โรคลมชักมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก และทุกๆ ปีมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้น 2.4 ล้านคน ผู้ป่วยโรคลมชักมีการเสียชีวิตก่อนอายุขัยมากกว่าคนทั่วไป 2-6 เท่า โดยผู้ป่วยโรคลมชักมักจะถูกรังเกียจ เลือกปฏิบัติ ถูกแยกจากสังคม และเป็นปมด้อย เนื่องจากความเข้าใจที่ผิดว่าเป็นโรคติดต่อ หรือโดนผีสิง ทั้งนี้โรคลมชักมีความชุก 10 คนต่อประชากรพันคนโดยรวมทั่วโลก และยังพบอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับนับจากปี พ.ศ. 2552 จากข้อมูลการสำรวจโดยสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย พบว่า ปี พ.ศ. 2555 ความชุกของโรคลมชักในประเทศไทยมี 25 คนต่อประชากรพันคน
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization –WHO) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2557 พบว่า โรคลมชักเป็นหนึ่งในโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรงได้บ่อยมากที่สุด ที่มีผลต่อ ทุกกลุ่มอายุ และโรคลมชักเป็นภาระของโลกที่ต้องการความร่วมมือระดับประเทศ เพื่อรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และความรู้ในระดับสาธารณะ และหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม มากกว่าร้อยละ 75 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะสามารถมีชีวิตเช่นคนปกติปราศจากอาการชักได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลก ที่อาจจะไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องหรือเพียงพอ ทำให้เกิดช่องว่าง ในการรักษา ที่เรียกว่า Treatment gap(ช่องว่างการเข้าถึงการรักษา) ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน อาทิเช่น บุคลากร ไม่เพียงพอการเข้าถึงยาไม่เหมาะสม สังคมเพิกเฉย ความเข้าใจในโรคผิด ลำดับความสำคัญไว้ต่ำเกินไปสำหรับการรักษาโรคลมชัก เป็นต้น จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา พ.ศ.2555 พบว่า ผู้ป่วยโรคลมชักในประเทศไทย ร้อยละ 57 ยังมีปัญหาในการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษา โรคลมชักที่ถูกต้องเหมาะสมซึ่งเป็นผลจากจำนวนแพทย์ที่รักษาโรคลมชักไม่เพียงพอ การกระจายของแพทย์ไม่เหมาะสม จำนวนยากันชักพื้นฐานมีไม่ครบทุกแห่ง และเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยร้อยละ 75 กลับมาใช้ชีวิตปกติ จึงจำเป็นต้องลด Treatment gap (ช่องว่างการเข้าถึงการรักษา) ในการรักษาโรคลมชักในระดับนโยบาย คือ 1. โรคลมชักเข้าถึงเป็นนโยบายระดับชาติ (National policy) และ 2. พัฒนาการดูแลเรื่องโรคลมชักเพื่อลดช่องว่างในการรักษา
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันเฉพาะทางด้านระบบประสาท มีเป้าหมายในการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรคลมชัก ซึ่งมีหน้าที่ในด้านการวิจัย ถ่ายทอดวิชาการ รักษาพยาบาล สร้างเครือข่ายศูนย์รับ-ส่งต่อระดับตติยภูมิและเป็นแหล่งอ้างอิง ข้อมูล ตลอดจนนำเสนอนโยบายด้านโรคลมชักของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ผ่าตัดโรคลมชักระดับสูง 1 ใน 5 ศูนย์ของประเทศไทย มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือ ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคลมชักที่ดื้อยาและซับซ้อนโดยการผ่าตัด มีผลงานการวิจัย และมีหลักสูตรถ่ายทอดวิชาการด้านโรคลมชักซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการส่งต่อ สร้างเครือข่าย ฐานข้อมูล และนำเสนอนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคลมชักของประเทศไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ สถาบันประสาทวิทยา จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคลมชักที่ถูกต้องเหมาะสมในประเทศไทย โดยเน้นด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านโรคลมชักแก่บุคลากรในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิเพื่อให้สามารถดูแลรักษาโรคลมชักในเขตบริการสุขภาพ สร้างเครือข่ายระดับทุติยภูมิกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ให้คำปรึกษาในการสร้างต้นแบบคลินิกลมชักปฐมภูมิและต้นแบบคลินิกลมชักทุติยภูมิ นำเสนอนโยบายการจัดหายากันชัก เครื่องมือการตรวจวินิจฉัย บุคลากรที่มีองค์ความรู้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลระดับต่างๆ ร่วมติดตามประเมินผลการพัฒนาและการจัดทำฐานข้อมูลด้านโรคลมชักที่สำคัญของประเทศไทย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2. เพื่อพัฒนาระบบการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคลมชัก รวมถึงระบบการให้บริการและส่งต่อผู้ป่วยโรคลมชักในประเทศไทย
3. เพื่อสร้างเครือข่ายสถานพยาบาลด้านโรคลมชักที่มีคุณภาพ และสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่าง มีประสิทธิภาพ
4. เพื่อพัฒนาระบบการลงบันทึกในฐานข้อมูลการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักระดับประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษา ได้อย่างรวดเร็ว และทันสมัย
วิธีสมัครการประชุม
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มงานถ่ายทอดและสนับสนุนวิชาการ
โทร. 02-306-9899 ต่อ 2176
E-mail : vichakarn.prasat@gmail.com