ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
โครงการสร้างเครือข่ายระหว่างเภสัชกรร้านยา อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ชื่อการประชุม โครงการสร้างเครือข่ายระหว่างเภสัชกรร้านยา อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สถาบันหลัก มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน
รหัสกิจกรรม 5004-2-000-001-02-2567
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุมเพชรบุรี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร และระบบทางไกล Zoom
วันที่จัดการประชุม 27 ก.พ. 2567
ผู้จัดการประชุม มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย อสส. , เภสัชกรร้านยาที่มีบริการ CI /PP หรือ เภสัชกรอาสาพาเลิกบุหรี่ , ผู้แทนจากศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์ละ 1 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดในสมองตีบ และอื่นๆอีกมากมายนั้น ส่วนมากเกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การใช้ชีวิตประจำวันที่หมดไปกับการเดินทางบนท้องถนน จนทำให้หลายคนขาดการออกกำลังกาย อีกทั้งยังพักผ่อนไม่เพียงพอ มีภาวะความเครียด การแข่งขันที่มากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จนก่อให้เกิดปัญหายาเสพติดในชุมชน รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาในสังคมอื่นๆอีกมากมาย
มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น หากเภสัชกรชุมชน (หรือเรียกว่า เภสัชกรร้านยา) ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน ซึ่งถือเป็นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องมีการทำงานร่วมกัน ระหว่างองค์กรทางการแพทย์, องค์กรภาครัฐและเอกชน, สถาบันการศึกษา, และชุมชนทั้งหลาย จึงเกิดเป็นการขับเคลื่อน โดยเภสัชกรในร้านยา ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง ร้านยาได้ผ่านการอบรมหลักสูตร “การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาโดยเภสัชกรชุมชน” (Common illness : CI) และ หลักสูตร “การป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ: การใช้ยาคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมและการคัดกรองความเสี่ยง” (Prevention and Protection : PP ) โดย สภาเภสัชกรรม และอีกทั้ง เภสัชกรอาสาพาเลิกบุหรี่ในร้านยาที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในการมีส่วนช่วยให้ผู้รับบริการ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ สามารถเข้าถึงการบริการมากยิ่งขึ้นโดยความช่วยเหลือจากทั้งสองฝ่าย ร่วมกัน
อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ถือเป็นแกนนำที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาสุขภาพของประชาชนในชุมชน เขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนด้านสุขภาพอนามัย ที่ เข้าถึงชุมชนมากที่สุด รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ความสามารถในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เป็นพื้นฐาน ผ่านการอบรมจากศูนย์บริการสาธารณสุข
จากนโยบายเส้นเลือดฝอย ของท่านผู้ว่าฯกทม.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้กล่าวไว้ว่า ระบบต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ คล้าย ๆ กับร่างกายคน มีระบบเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นหลัก อยู่ส่วนกลาง และมีเส้นเลือดฝอยที่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เส้นเลือดฝอยอย่างหนึ่งเรียกว่าเป็นเรื่อง โรงพยาบาลขนาดใหญ่กระจุกตัวในเขตเมืองชั้นใน ในขณะที่ศูนย์สาธารณสุขและศูนย์สุขภาพชุมชนยังมีไม่เพียงพอและขาดแคลนอัตราบุคลากร ระบบเส้นเลือดฝอยที่มีปัญหา สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพของเส้นเลือดใหญ่ ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา “เส้นเลือดฝอย” คือ ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และ ความตั้งใจจริง
นอกจากนี้จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การนำเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านการสาธารณสุข ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และสภาเภสัชกรรม มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างบทบาทนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชน โดยมีขอบเขตของข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาแนวทางและการดำเนินงานในทุก ๆ ด้านของการให้บริการเภสัชกรรม รวมถึงนวัตกรรมบริการใหม่ ๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลต่าง ๆ ให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมกันหารือแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อความยั่งยืนของระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านการสาธารณสุข
เภสัชกรชุมชนเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนมากเช่นกัน แต่ที่ผ่านมามีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สะดวกที่จะไปรับบริการที่สถานพยาบาลของรัฐ ร้านยาจึงเป็นที่พึ่งยาม ประชาชนมีความเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ และการใช้ยา ที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการในร้านยามากยิ่งขึ้น จึงจัดให้มีโครงการฯดังกล่าวขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เกิดการส่งต่อข้อมูลระหว่าง อสส.กับเภสัชกรร้านยา ในชุมชน เช่น ส่งต่อผู้ป่วยมาเลิกบุหรี่ ฯ
2. ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ในบริการ CI /PP และเภสัชกรอาสาพาเลิกบุหรี่ในร้านยา
3. เกิดระบบของการดูแลประชาชนตามนโยบายเส้นเลือดฝอย ของท่านผู้ว่าฯกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
คำสำคัญ
การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย , การป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ , บริการเลิกบุหรี่ , เภสัชกรอาสาพาเลิกบุหรี่
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจลงทะเบียนที่ : https://forms.gle/Yv2Mh8SL4wxYaemW9 สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom ผู้จัดการประชุม ฯ จะส่ง Link หลังจากที่ท่านกดส่งในหน้าสุดท้าย จะบันทึกตอนเริ่มประชุม cap หน้าจอจากระบบ Zoom ที่มีผู้เข้ามาร่วมประชุม โดยผู้เข้าประชุม ต้องเปิดแสดงใบหน้า