ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
26th Bangkok International Symposium on HIV Medicine
ชื่อการประชุม 26th Bangkok International Symposium on HIV Medicine
สถาบันหลัก ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
รหัสกิจกรรม 0001-2-000-009-01-2567
สถานที่จัดการประชุม สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 17 -19 ม.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่าง ไทย - ออสเตรเลีย - เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT)
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 11.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สถานการณ์ของโรคเอดส์ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ทั่วโลกดีขึ้นมาก ตั้งแต่เริ่มมีการให้ยาต้านไวรัสเอดส์อย่างกว้างขวางกับผู้ติดเชื้อในประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกปีละ 1.5 ล้านคน (ในขณะที่คนไทยติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 9,000 คนต่อปี) แสดงว่าคนอีกจำนวนมากยังไม่ตระหนักยังไม่ป้องกันตัว ดังนั้นการทำให้คนที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วรู้ตัวจึงเป็นมาตรการสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ปัญหาในปัจจุบันคือจะทำให้คนที่อาจมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัวแล้วในขณะนี้มีความตระหนักไปตรวจเอดส์โดยสมัครใจแต่เนิ่นๆ ได้อย่างไร ทั่วโลกจึงมีการคิดหาวิธีต่างๆ ที่จะให้ประชาชนทั่วไปมีความตระหนักและเข้าถึงการตรวจเอชไอวีมากขึ้น มีความสะดวกมากขึ้น ได้ผลที่แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการตรวจเจอเร็วในขณะที่ยังไม่ป่วย แล้วรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ มีความสำคัญมากในการที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี และมีอายุยืนยาวเหมือนกับคนที่ไม่ติดเชื้อทั่วไป การที่มีเชื้อเอชวีมากๆ ในร่างกายไปนานๆ จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ทำให้เส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ ไตและตับวายได้ ดังนั้นการให้ยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยป้องกันโรคเหล่านี้ได้ด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าป้องกันได้ไม่หมด เพราะโรคเหล่านี้เป็นโรคของผู้สูงอายุ ยิ่งผู้ติดเชื้อมีชีวิตยืนยาวขึ้น โรคของผู้สูงอายุก็จะพบมากขึ้นด้วยรวมถึงมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องจากอายุที่มากขึ้น บวกกับเชื้อเอชไอวีที่ยังมีอยู่ในร่างกายและยาต้านไวรัสเอดส์ที่รับประทานอยู่ และนอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่มขึ้นด้วย
ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่จะต้องตระเตรียมแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอให้มีความรู้ความสามารถในการตรวจวินิจฉัยรักษา การเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์ที่เหมาะสม และที่สำคัญทำอย่างไรให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน การเข้าถึงการตรวจเอชไอวีอย่างกว้างขวาง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ Getting to Zero
ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่าง ไทย-ออสเตรเลีย-เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT), ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้จัดการอบรมนานาชาติ “Bangkok International Symposium on HIV Medicine” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ซึ่งปรากฎว่าได้รับความสนใจจากแพทย์ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก และมีแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากกระทรวงสาธารณสุข และบริษัทยาในการส่งแพทย์และพยาบาลเข้ารับการอบรม
และในเดือนมกราคมของปี 2567 ที่จะถึงนี้ ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่าง ไทย-ออสเตรเลีย-เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT), ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จะจัดให้มีการอบรมทางวิชาการ “26th Bangkok International Symposium on HIV Medicine” การอบรม (Onsite) ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2567
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันและเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลให้รองรับการเข้าถึงการตรวจเอชไอวีของประชาชน
2. เพื่อให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทราบถึงความก้าวหน้าและเทคโนโลยีล่าสุดในการตรวจวินิจฉัยดูแลรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของโรคเอดส์ได้อย่างถูกต้อง
3. เพื่อให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทราบถึงข้อมูลล่าสุดในการ
ใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดต่างๆ ตลอดถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและการบำบัดรักษาผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์นั้น
คำสำคัญ
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ
วิธีสมัครการประชุม
Tel : 02-6523040 ต่อ 0