ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
การรักษาหลอดเลือดดำขอดด้วยสารสกัดฟลาโวนอยด์
ชื่อบทความ การรักษาหลอดเลือดดำขอดด้วยสารสกัดฟลาโวนอยด์
ผู้เขียนบทความ ภญ.สิรินุช พละภิญโญ
สถาบันหลัก โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
รหัสกิจกรรม 4001-1-000-001-09-2561
ผู้ผลิตบทความ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 12 ก.ย. 2561
วันที่หมดอายุ 11 ก.ย. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นสารเมตาบอไลต์ขั้นทุติยภูมิ (secondary metabolite) จากธรรมชาติในกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenolic compounds) ที่พบในอาหาร ผัก ผลไม้และเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ไวน์ ชา เป็นต้น ปัจจุบันพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์มากกว่า 4,000 ชนิด คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของสารสกัดฟลาโวนอยด์ ส่วนใหญ่ให้ประโยชน์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาได้นั้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง สำหรับสารกลุ่มฟลาโวนอยด์นั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถระบุสาร diosmin และพัฒนาต่อมาเป็นยา micronized purified flavonoid fraction หรือ MPFF ประกอบด้วย micronized diosmin ร้อยละ 90 และ micronized hesperidin ร้อยละ 10 จัดเป็นยาในกลุ่ม phlebotropic มีผลเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือดดำและลดความสามารถในการผ่านหรือการเกิดการรั่วซึมของสารหรือเซลล์บริเวณหลอดเลือดฝอยจึงมีบทบาทลดกระบวนการอักเสบ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดดำ ได้แก่ หลอดเลือดดำขอด peripheral vascular disease และใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร หลอดเลือดดำขอด (varicose vein) เป็นส่วนหนึ่งของภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้องรัง (chronic venous disease, CVD) ที่พบบ่อย โดยมีสาเหตุจากการที่หลอดเลือดดำส่วนหนึ่งใต้ผิวหนังสูญเสียความยืดหยุ่นหรือสมรรถภาพของกล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดดำผิดปกติหรือลิ้นของหลอดเลือดดำส่วนต้นบกพร่อง (superficial veins valve dysfunction) ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดขึ้นทั้งด้านกว้างและด้านยาวหรือเกิดภาวะหลอดเลือดดำฝอยขยายตัวมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม (venous spider telangiectasia) หลอดเลือดจึงคดเคี้ยวไปมามีลักษณะคล้ายตัวหนอนหรือไส้เดือนใต้ผิวหนัง มักพบความผิดปกติดังกล่าวบริเวณตั้งแต่สะโพกจนไปถึงข้อเท้า (lower limbs)(3) หลอดเลือดดำขอดเป็นปัญหาที่พบบ่อย การศึกษาในสหราชอาณาจักรรายงานการพบภาวะนี้ร้อยละ 17-40 ส่วนข้อมูลความชุกในประเทศสหรัฐอเมริกาพบประมาณร้อยละ 23 จนมากถึงร้อยละ 80 หากรวมการเกิดหลอดเลือดดำผิดปกติที่ลักษณะหลอดเลือดฝอยดำขยายตัวซึ่งก่อปัญหาด้านความงาม (cosmetic venous telangiectasia) การรักษาหลอดเลือดดำขอดแนะนำให้ปรับพฤติกรรมหรือปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคร่วมกับการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด แม้ว่าการใช้ยารับประทานรักษาหลอดเลือดดำขอดไม่มีกล่าวถึงอย่างชัดเจนในบางแนวทางการรักษาแต่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพและสะดวกในการใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วย ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการทบทวนความรู้เรื่องยารับประทานที่ใช้สำหรับรักษาหลอดเลือดดำขอดเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย
คำสำคัญ
สกัดฟลาโวนอยด์ หลอดเลือดดำขอด เส้นเลือดขอด