ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 มิถุนายน 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 20 “An Emergency Medicine Focus for Pharmacists”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 20 “An Emergency Medicine Focus for Pharmacists”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-027-09-2566
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน โฮเทล อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
วันที่จัดการประชุม 16 -17 ก.ย. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาลเครือข่ายสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) เภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ในเขตภาคใต้
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (emergency medicine) คือวิชาแพทย์เฉพาะทางปฐมภูมิ (primary care specialty) สาขาหนึ่ง ซึ่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และให้บริการเกี่ยวกับการประเมิน การจัดการ การบำบัดรักษา และการป้องกันภาวการณ์เจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดคิดมาก่อน (unexpected illness and injury) เป็นหลักปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการรอดชีวิตของประชาชนที่ประสบการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (เข่น ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ได้รับพิษ เจ็บป่วยวิกฤติเฉียบพลัน) คือการได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกวิธีในระยะเวลาที่รวดเร็ว ดังนั้น เวชบริการฉุกเฉินจึงเป็นบริการพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การจัดเวชบริการฉุกเฉินในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาอยู่มาก เช่น ประชาชนและอาสาสมัครทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ถูกวิธี ขาดความรู้ในการปฏิบัติการกู้ชีพ ฯลฯ และที่สำคัญอย่างย่าง คือ บุคลากรทางการแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินส่วนใหญ่เป็นทีมบุคลากรที่หมุนเวียนจากสาขา/หน่วยงานต่าง ๆ มาปฏิบัติงาน โดยไม่มีกลุ่มบุคลากรรับผิดชอบโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงไม่เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ และขาดการพัฒนาการบริการในห้องฉุกเฉินให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีระบบมาตรฐานในการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง
ในปัจจุบัน เวชวิทยาการและองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินได้พัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วการที่บุคลากรจากสาขาต่าง ๆ หมุนเวียนมาปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉินทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยและให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทุกประเภทได้อย่างเหมาะสม ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ทั้งที่ในบางกรณีไม่ควรเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
จากปัญหาความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เภสัชกรซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีความสำคัญในระบบบริการทางสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัยในด้านการใช้ยาร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ในโรงพยาบาล เช่น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนากร จึงมีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังและป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยา ลดปัญหาที่เกิดจากยา ดังนั้นความรู้และทักษะของเภสัชกรโรงพยาบาลในการให้บริบาลเภสัชกรรม ได้แก่ การติดตามและให้คำแนะนำด้านยารวมทั้งการดูแลสุขภาพอย่างทันท่วงที สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิผลการรักษาในผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวอีกด้วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลทันทีแก่เภสัชกรโรงพยาบาล
2. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลทันที
3. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลทันที สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
คำสำคัญ
Emergency Medicine, Emergency Management, Emergency Medicine Pharmacy