ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
การใช้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มประชากรชายรักชาย
ชื่อบทความ การใช้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มประชากรชายรักชาย
ผู้เขียนบทความ ภญ.สุดารัตน์ บัวหอม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-1-000-003-07-2561
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 27 ก.ค. 2561
วันที่หมดอายุ 26 ก.ค. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตทั่วโลก จากสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยในปี พ.ศ.2559 พบว่ากลุ่มที่มีการติดเชื้อใหม่มากที่สุด คือ กลุ่มประชากรชายรักชาย หรือ Men who have sex with men (MSM) ซึ่งมีคำแนะนำการใช้ ยาต้านไวรัสสำหรับป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) โดยการใช้ยาเม็ดรวมระหว่าง Tenofovir disoproxil fumarate 300 mg และ Emtricitabine 200 mg (TDF/FTC) รับประทานวันละ 1 เม็ด ตลอดช่วงที่สัมผัสความเสี่ยงการติดเชื้อ พบว่าจากการศึกษา iPrEx วิธีนี้สามารถลดอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีได้เพียงร้อยละ 44 อาจเป็นผลจากปัญหาเรื่องความร่วมมือในการใช้ยาไม่เพียงพอ ต่อมาจึงมีการศึกษา iPERGAY โดยการบริหารยาจะแตกต่างจากงานศึกษาก่อนหน้า เป็นรูปแบบ On-demand รับประทานยา 2 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-24 ชั่วโมง และอีก 2 เม็ดหลังมีเพศสัมพันธ์ ภายใน 24 ชั่วโมงและ 48 ชั่วโมงถัดไปหลังจากรับประทานยาสองเม็ดแรก กรณีมีเพศสัมพันธ์หลายครั้งติดต่อกัน ให้รับประทานยาต่อเนื่องวันละ 1 เม็ด และอีก 2 เม็ดหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย พบว่าประสิทธิภาพการลดอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีสูงถึงร้อยละ 86 อีกทั้งการศึกษา PROUD เป็นเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับยา PrEP สูตร TDF/FTC ทันที กับกลุ่มที่ชะลอการได้รับยา 1 ปี พบว่า อุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีลดลงในกลุ่มที่ได้รับยาทันที คิดเป็นร้อยละ 86 ส่วนด้านความปลอดภัยในเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากทั้งสามการศึกษา พบว่าไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ได้รับยา TDF/FTC จะพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากกว่าในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และระดับ creatinine ที่เพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าการใช้ยารูปแบบ PrEP เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อเอชไอวี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการใช้ยา
คำสำคัญ
HIV, Pre-Exposure Prophylaxis, PrEP, กลุ่มประชากรชายรักชาย, Men who have sex with men, MSM