ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา baricitinib ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะกำเริบ
ชื่อบทความ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา baricitinib ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะกำเริบ
ผู้เขียนบทความ ภญ.พิรญาณ์ คำเขียน
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-1-000-002-07-2561
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 15 ก.ค. 2561
วันที่หมดอายุ 14 ก.ค. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis: RA) เป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) เกี่ยวข้องกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน และเอนไซม์ในกระบวนการส่งสัญญาณ (signaling pathways) รวมทั้ง Janus-associated kinases (JAKs) ปัจจุบันยา baricitinib ออกฤทธิ์ยับยั้ง JAK1 และ JAK2 แบบ reversible ขนาดยาที่แนะนำ คือ 4 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง มีการศึกษาทางคลินิกหลายการศึกษา ที่ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา baricitinib แบบ monotherapy ในผู้ป่วย RA ที่ไม่เคยใช้ยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (disease modifying anti-rheumatic drugs: DMARDs) ชนิดใดมาก่อนและ แบบ add on therapy ในผู้ที่ใช้ methotrexate หรือ DMARDs ชนิดอื่น รวมถึงยาชีววัตถุ (biological DMARDs) แล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ ประเมินผลการศึกษาหลายวิธี โดยประเมินผลลัพธ์หลัก (primary endpoint) จากจำนวนผู้ตอบสนองตามเกณฑ์ American College of Rheumatology ร้อยละ 20 (ACR20) ในสัปดาห์ที่ 12 หรือ 24 ส่วนผลลัพธ์รอง (secondary endpoint) เป็นการประเมินการกำเริบของโรค (disease activity) โดยใช้ Disease Activity Score 28 (DAS28) และการประเมินสมรรถภาพของข้อ โดยใช้ Health Assessment Questionnaire disability index (HAQ-DI) รวมถึงการประเมินภาวะผุกร่อนของข้อจากภาพถ่ายรังสี (radiographic progression) ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า ยา baricitinib ที่รับประทานในขนาด 4 มิลลิกรัม วันละครั้ง ให้ผลดีกว่ายา MTX หรือยา adalimumab หรือยาหลอก ประสิทธิผลส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 หลังจากการใช้ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเห็นผลเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐาน และประสิทธิผลจะสูงสุดในสัปดาห์ที่ 12 และผลนี้จะยังคงที่ไปตลอดจนถึง 52 สัปดาห์ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ ได้แก่ ระดับเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล (neutrophils) ลดลง ระดับไขมันชนิด low-density lipoprotein (LDL) เพิ่มขึ้น ระดับเอนไซม์ตับ alanine aminotransferase (ALT) เพิ่มขึ้น และ creatinine เพิ่มขึ้น เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนและที่อื่น ซึ่งรวมถึงโรคเริม (herpes simplex) และโรคงูสวัด (herpes zoster)
คำสำคัญ
baricitinib, rheumatoid arthritis, Janus-associated kinases, JAKs, DMARDs