ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 10 “The Navigating treatment to Improving the Value of Oncology Care”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 10 “The Navigating treatment to Improving the Value of Oncology Care”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-013-06-2565
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา
วันที่จัดการประชุม 25 -26 มิ.ย. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งของประเทศต่างๆทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีรายงานถึงการเพิ่มจำนวนผู้รอดชีวิตจากมะเร็งมากขึ้น เนื่องมาจากประสิทธิภาพในการรักษาและการค้นพบโรค ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่โรคมะเร็งยังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมาโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรไทยและเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ซึ่งนอกจากโรคมะเร็งจะเป็นปัญหาการเจ็บป่วย การเสียชีวิตแล้ว ยังเป็นปัญหาเรื่องภาระโรค (Burden of Disease) ที่ทำให้ประชาชนสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งนำความทุกข์ทรมานมาสู่ทั้งผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วยต้องทนทรมานกับความเจ็บปวด อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ และผลกระทบด้านจิตใจอีกด้วย ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ภายใต้นโยบายและแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เชื่อมโยงบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้ผู้ป่วยหรือประชาชนได้เข้าถึงบริการอย่างไร้รอยต่อ
เภสัชกรเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพที่มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งในการจัดระบบบริการให้มีคุณภาพนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการวินิจฉัยโรคหรือแนวทางการรักษาใหม่ๆ และเข้าใจถึงความต้องการในการดูแลของผู้ป่วย ให้สอดคล้องกับยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสม ปัจจุบันเรื่องการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-Based Health Care) ได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริการทางการแพทย์ ที่มีเป้าหมายให้เกิดความคุ้มค่า คุ้มราคา ภายใต้การบริการที่มีคุณภาพ คุณค่า และคุณธรรม โดยอาศัยกลยุทธ์ที่หลากหลาย เช่น การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง การจัดรูปแบบการบริการแบบใหม่ การบูรณาการข้ามสายงาน/ข้ามสถานพยาบาล การขยายบริการ การมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่มีเทคโนโลยีที่ดี การวัดผลลัพธ์ในรูปแบบใหม่ และการบริหารจัดการด้านการเงินในรูปแบบใหม่ เป็นต้น ดังนั้นการมีการเภสัชกรรมที่เป็นเลิศในระบบบริการสุขภาพ จะเอื้อให้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีผู้ปฏิบัติทางการเภสัชกรรมที่มีคุณภาพ มีมุมมองที่หลากหลายมิติ มีการบูรณาการ (Integrated) การทำงานร่วมกัน (Collaboration) การมองอย่างองค์รวมและการผสมผสาน (Holistic & Comprehensive) ภายใต้ข้อมูลเชิงประจักษ์ จนส่งผลให้เกิดคุณภาพงานบริการที่ดี (Value Health Outcome) และระบบบริการสุขภาพที่สมคุณค่าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เพื่อให้เภสัชกรได้ทราบถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ถูกต้อง ปลอดภัย และสามารถขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า ด้วยการมีรูปแบบการเภสัชกรรมที่เป็นเลิศ
วัตถุประสงค์
1. ได้รับความรู้ความเข้าใจในวิทยาการก้าวหน้าทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งและเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ
2. ได้รับความรู้ความเข้าใจและแนวคิดในเรื่อง การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-Based Health Care)
3. ได้แนวทางในการพัฒนาตนเอง วิชาชีพ และองค์กร ที่หลากหลายและทันสมัยในยุคปัจจุบัน ที่มีการ บูรณาการ การสร้างความร่วมมือ การคิดเชิงออกแบบ เพื่อให้เกิดรูปแบบการเภสัชกรรมที่เป็นเลิศ
4. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายในวิชาชีพอย่างกว้างขวาง
คำสำคัญ
oncology care management, value in oncology care, care coordination