การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 9 “Hemophilia Management for Pharmacists : Collaborating in a New Era to Optimize Outcome”
ชื่อการประชุม |
|
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 9 “Hemophilia Management for Pharmacists : Collaborating in a New Era to Optimize Outcome” |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
รหัสกิจกรรม |
|
1004-2-000-012-05-2565 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
โรงแรม เซ็นทารา อ่าวนางบีช รีสอร์ต แอนด์ สปา กระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ |
วันที่จัดการประชุม |
|
28 -29 พ.ค. 2565 |
ผู้จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
เภสัชกรทั่วไป |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
5.5 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
โรคฮีโมฟิเลีย เป็นโรคเลือดออกง่ายแต่กำเนิดซึ่งเป็นผลจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการสร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่เรียกว่าแฟคเตอร์ แปด และเก้า ทำให้เกิดโรคฮีโมฟิเลีย เอ และโรคฮีโมฟิเลียบี ตามลำดับ โรคฮีโมฟิเลีย เอ พบได้ร้อยละ 80-85 บ่อยกว่าโรคฮีโมฟิเลีย บี ซึ่งพบได้ร้อยละ 15-20 เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยผ่านทางโครโมโซมเพศชนิด X ดังนั้นมักเกิดโรคในเพศชาย โดยเพศหญิงที่มียีนแฝงของโรคนี้ไม่เกิดโรคนี้แต่อาจส่งผ่านความผิดปกติไปให้บุตรชายได้ คนไข้โรคฮีโมฟิเลียบางครั้งอาจเกิดได้เองโดยที่มารดาไม่ได้มียีนแฝงซึ่งพบได้ร้อยละ 30 การแบ่งความรุนแรงของโรค แบ่งตามระดับค่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือด โดยที่รุนแรงมากพบว่าระดับค่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือด น้อยกว่า 1 มีผลทำให้คนไข้มีโอกาสเลือดออกได้เองหรือบาดเจ็บเล็กน้อยเกิดภาวะเลือดออก กลุ่มรุนแรงปานกลางระดับค่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือด อยู่ระหว่าง 1-5 คนไข้อาจเลือดออกเมื่อเกิดการบาดเจ็บ ล้ม กระแทก ส่วนระดับรุนแรงน้อยระดับค่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือด มากกว่า 5-40 คนไข้อาจมีเลือดออกมากเมื่อถอนฟัน หรือเกิดการบาดเจ็บรุนแรงหรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการทราบระดับความรุนแรงทำให้เกิดความเข้าใจในการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการควบคุมภาวะเลือดออก เมื่อมีภาวะเลือดออกเกิดขึ้น ขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดคือการให้แฟคเตอร์เข้มข้น โดยการรักษาที่บ้านซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าในการได้รับการรักษา แต่ในภาวะเร่งด่วน ได้แก่ อุบัติเหตุที่ศีรษะ คอ ช่องท้อง หรือเลือดออกที่กล้ามเนื้อใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อต้นขา ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันทีเนื่องจากมีโอกาสเกิดเลือดออกรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ปัจจุบันการรักษาฮีโมฟิเลียมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมากสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ สามารถไปเรียนหนังสือและทำงานได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจของทั้งผู้ป่วย ครอบครัวต่อโรคและภาวะเลือดออก การดูแลรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อกล้ามเนื้อและข้อน้อยที่สุด
ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย และผู้ดูแลต้องมาโรงพยาบาลบ่อยครั้งเพื่อรับการรักษา ซึ่งเสียเวลาอย่างมากและส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความยากลำบากในการทำให้การรักษาและชีวิตประจำวันดำเนินไปด้วยกันได้อย่างสมดุล ดังนั้นจึงอาจไม่สามารถให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามการรักษาได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการเลือดออกที่เป็นอันตรายได้ง่าย สำหรับเภสัชกรซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ จะมีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังช่วยเพิ่มอัตราการใช้แฟคเตอร์ของผู้ป่วย ลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาอื่นๆที่ต้องใช้ร่วมด้วย ดังนั้นเภสัชกรโรงพยาบาลควรเข้าใจกระบวนการรักษา รวมทั้งทักษะในการให้บริบาลเภสัชกรรมกับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เพื่อนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประยุกต์เพื่อใช้ได้ถูกต้องต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย แก่เภสัชกรโรงพยาบาล
2. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย
3. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
คำสำคัญ
Hemophilia, Bleeding disorders, Hemophilia deficiency