ชื่อการประชุม |
|
การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการดูแลจุดซ่อนเร้นในร้านขายยา |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
รหัสกิจกรรม |
|
1004-2-000-006-09-2564 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
ONLINE |
วันที่จัดการประชุม |
|
05 ก.ย. 2564 |
ผู้จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
เภสัชกรผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านขายยา ในเขตจังหวัดภาคใต้ |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
1.5 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
สถิติจากองค์การอนามัยโลกพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์กว่า 33 ล้านคนต่อปี สาเหตุหลักเกิดจากปัญหา การคุมกำเนิดที่ผิดพลาด ไม่มีความรู้ ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญให้เกิดการวางแผนครอบครัวที่ถูกต้องและมีคุณภาพ
สถานการณ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือท้องไม่พร้อมในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นยังเป็นปัญหาที่น่าวิตกและจำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการเกิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการวางแผนครอบครัวอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ในปี 2562 สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน เปรียบเทียบกับ ปี 2543 พบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 240 คน และในอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 4 คน ทั้งนี้ในปี 2562 พบว่า จำนวนหญิงคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอยู่ 63,831 ราย โดยแยกหญิงคลอดอายุระหว่าง 15-19 ปี มีจำนวน 61,651 ราย หญิงคลอดอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 2,180 ราย และยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ซ้ำและคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 5,222 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.2 (กรมอนามัย, สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ปี 2563)
ส่วนข้อมูลจากการบริการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม พบช่วงการระบาดโควิด-19 มีหญิงตั้งครรภ์ ไม่พร้อมขอรับบริการปรึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยมีสถิติสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 รวม 4,461 คน เฉลี่ย 149 คนต่อวัน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 26 คน มากกว่าช่วงสถานการณ์ปกติคือ เดือนตุลาคม 2563 ที่มีผู้ขอรับคำปรึกษาเพียง 2,490คน เฉลี่ย 83 คนต่อวัน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี 16 คน ส่วนใหญ่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์อาร์เอสเอไทย ที่มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ในเดือนพฤษภาคม 2564 สูงถึง 208,022 ครั้ง โดยหน้าที่มีการเข้าถึงสูงสุดคือ หน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ มีการเข้าชมถึง 43,665 ครั้ง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมหลังจากปรึกษาทางเลือก ร้อยละ 70-90 มีความประสงค์ยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากปัจจัยแวดล้อม ทั้งสุขภาพตนเอง ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม (โควิดทำพิษหญิงไทย สถิติท้องไม่พร้อมพุ่ง, ไทยโพสต์ วันที่ 28 มิ.ย. 2564 : https://www.thaipost.net/main/detail/107849)
ส่วนพฤติกรรมการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายแง่มุม เป็นต้นว่า ความนิยมชมชอบส่วนบุคคล บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม หลักปฏิบัติทางศาสนา และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การรับเอาพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องสุขภาพของทั่วทั้งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรีและช่องคลอด ควบคู่ไปกับการป้องกันหรือลดอาการ ไม่พึงปรารถนาที่หลากหลาย (เช่น สีผิวเปลี่ยน เกิดรอยโรค แสบร้อน คัน แผลปริและเจ็บในระหว่างมีเพศสัมพันธ์) โดยมีรายงานว่า 1 ใน 5 ของสตรีจะมีปัญหา รบกวนทางปากช่องคลอดค่อนข้างมากเป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 3 เดือนในช่วงหนึ่งของชีวิต เช่น คัน และ/หรือแสบร้อนหรือเจ็บปวดกะทันหัน เมื่อสัมผัสกับบริเวณช่องคลอด
รวมถึงผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดมีความแตกต่างไปจากผิวหนังที่ตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความชุ่มชื้น การเสียดสี การระบายน้ำและการระคายเคืองที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ผิวบริเวณปากช่องคลอดยังมีความเปราะบางหรืออ่อนแอต่อยาทาชนิดต่าง ๆ มากกว่าผิวหนังที่ตำแหน่งอื่น ๆ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือลักษณะผิวจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามในแต่ละช่วงของชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงแต่ละคน (ไม่สามารถใช้หลักการแบบเหมารวมได้กับทุกคน) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของผิวจุดซ่อนเร้น ความจำเป็นและอายุของผู้หญิงแต่ละคน
เนื่องจากเภสัชกรร้านขายยาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ทางเลือกในการให้การรักษาทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา รวมถึงเป็นด่านหน้าที่สามารถให้คำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้น ดังนั้นจึงได้มีการจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “การป้องกัน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการดูแลจุดซ่อนเร้นในร้านขายยา” สำหรับเภสัชกร เพื่อให้เภสัชกรให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ทางเลือกในการให้การรักษาทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงมีส่วนช่วยในการคัดกรองและส่งต่อปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และปัญหาของโรคที่เกี่ยวกับจุดซ่อนเร้น ที่ต้องดำเนินการส่งต่อแพทย์ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เข้าใจถึงคำจำกัดความ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิดวิธีการต่าง ๆ โรคที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรีและช่องคลอด การดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นที่ถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
2. ทราบถึงแนวทางการรักษาทั้งแบบที่ใช้ยา และไม่ใช้ยา เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม
3. สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวสำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการดูแลจุดซ่อนเร้นให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
คำสำคัญ
การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์, ร้านขายยา, สุขอนามัยจุดซ่อนเร้น