การประชุมวิชาการสมาคมผู้ประกอบการร้านยารวมใจภาคใต้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 เรื่อง “การจัดการข้อเข่าเสื่อมแบบองค์รวม”
ชื่อการประชุม |
|
การประชุมวิชาการสมาคมผู้ประกอบการร้านยารวมใจภาคใต้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 เรื่อง “การจัดการข้อเข่าเสื่อมแบบองค์รวม” |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
รหัสกิจกรรม |
|
1004-2-000-012-08-2563 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
ประชุมวิชาการออนไลน์ ผ่าน Webinar Platform |
วันที่จัดการประชุม |
|
23 ส.ค. 2563 |
ผู้จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
เภสัชกรผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านขายยาและโรงพยาบาลในเขตจังหวัดภาคใต้ |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
1 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
โรคกระดูกและข้อ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญเนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คณะผู้เชี่ยวชาญโรคข้อขององค์การอนามัยโลก ประมาณการณ์ว่ามีประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เป็นโรคข้อเสื่อมกว่าร้อยละ 10 พบความชุกสูงสุดที่ข้อมือและพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (Pereira et al., 2011; Cooper et al., 2013) ซึ่งหากพิจารณาโรคข้อเสื่อมในประเทศไทย ก็พบว่าเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากเป็นโรคข้อที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุสำคัญอันก่อให้เกิดความทุพพลภาพในผู้สูงอายุ (ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, 2554) อีกทั้งยังมีผลกระทบสูงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย
จากสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในคนไทย พ.ศ. 2553 พบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 6 ล้านคน โดยข้อที่เสื่อมมากที่สุด คือ ข้อเข่า (Pereira et al., 2011) เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่มีขนาดใหญ่ และต้องรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง ทั้งยังต้องทำหน้าที่เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา ทำให้ข้อเสื่อมได้ง่าย อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2556 พบว่าผู้สูงอายุที่ได้รับการประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมมีจำนวนน้อยมาก เพียงร้อยละ 12.30 เท่านั้น (สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล และคณะ, 2556) ทั้งนี้อาจเนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินโรคนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
เนื่องจากเภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ทางเลือกในการให้การรักษาทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา ดังนั้นจึงได้มีการจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “การจัดการข้อเข่าเสื่อมแบบองค์รวม” สำหรับเภสัชกร เพื่อให้เภสัชกรให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ทางเลือกในการให้การรักษาทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงมีส่วนช่วยในการคัดกรองอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งส่งผลดีทำให้ช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคได้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เข้าใจถึงคำจำกัดความ เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม การแบ่งชนิดของโรคข้อเข่าเสื่อม พยาธิสภาพของโรคและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงหลักในการประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค
2. ทราบถึงแนวทางการรักษาทั้งแบบที่ใช้ยา และไม่ใช้ยา เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม
3. สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
คำสำคัญ
ข้อเข่าเสื่อม การวินิจฉัย พยาธิสภาพ ปัจจัยเสี่ยง การรักษา