การประชุมวิชาการ เรื่อง สุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome for Healthy and Happy Life)
ชื่อการประชุม |
|
การประชุมวิชาการ เรื่อง สุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome for Healthy and Happy Life) |
สถาบันหลัก |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
รหัสกิจกรรม |
|
1002-2-000-010-06-2562 |
สถานที่จัดการประชุม |
|
ณ ห้องประชุมทิพย์อุบล โรงแรม Arnoma Grand Bangkok |
วันที่จัดการประชุม |
|
13 -14 มิ.ย. 2562 |
ผู้จัดการประชุม |
|
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
กลุ่มเป้าหมาย |
|
แพทย์ เภสัชกร พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข |
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง |
|
11 หน่วยกิต |
หลักการและเหตุผล
สมองและทางเดินอาหาร (gut-brain axis) มีการสื่อสารกันโดยอาศัยระบบประสาทและฮอร์โมน เพื่อนำคำสั่งจากสมองมายังทางเดินอาหาร นอกจากนี้ในทางเดินอาหารยังมีระบบประสาทที่อยู่ภายในทางเดินอาหารเองเรียกว่า enteric nervous system (ENS) ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหารโดยทำงานเป็นอิสระจากการสั่งงานจากสมอง อย่างไรก็ตามระบบทางเดินอาหารเองสามารถสื่อสารกลับไปยังสมองโดยตรงได้เช่นกัน (bidirectional communications) ปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนว่า จุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (gut microbiota) ซึ่งพบมากในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ โดยเรียกรวมว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ gut-brain axis เรียกว่า brain-gut-microbiota axis หมายถึงการสื่อสารระหว่างจุลินทรีย์ ทางเดินอาหาร และสมอง โดยมีกลไกผ่านทางระบบประสาท (ระบบประสาทอัตโนมัติ และ ENS) ฮอร์โมน (hypothalamus-pituitary-adrenal axis) ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (การหลั่ง cytokines ต่างๆ) และเมแทบอไลต์ของจุลินทรีย์ พบว่าจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารมีบทบาทสำคัญทางสรีรวิทยาหลายประการ ช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ ช่วยสร้างวิตามินเค ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อก่อโรคในลำไส้ หากเกิดการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากจะทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เกิดโรคลำไส้แปรปรวน และยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอัลไซเมอร์ การปรับสมดุลของจุลินทรีย์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติจึงมีความสำคัญที่อาจช่วยป้องกันหรือรักษาโรคต่างๆ ดังกล่าวได้ ทั้งนี้การปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้ เช่น การใช้โพรไบโอติกเพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และพรีไบโอติกเพื่อเสริมประสิทธิภาพโพรไบโอติกให้ดียิ่งขึ้น การใช้สมุนไพร การปรับพฤติกรรมการนอนและการออกกำลังกาย
ภาควิชาสรีรวิทยา และภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมโภชนาการและสมุนไพรเชิงบูรณาการ จึงเห็นสมควรจัดการประชุมในหัวข้อ “สุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome for Healthy and Happy Life)” ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสมองและทางเดินอาหาร จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับระบบทางเดินอาหาร พรีไบโอติก โพรไบโอติก ผักและผักดองของไทยกับการปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ บทบาทของจุลินทรีย์ลำไส้ต่อจิตประสาท การใช้จุลินทรีย์ลำไส้และการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งวิธีต่างๆ เพื่อปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ เช่น พฤติกรรมการนอนและการออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งการอบรมนี้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของคณะคือ สร้างบริการวิชาชีพที่มีมาตรฐานเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด และสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพได้อย่างถูกวิธี อันก่อให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศ
วัตถุประสงค์
1. ได้รับความรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสมองและทางเดินอาหาร จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหาร
เพื่อสุขภาพสำหรับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
2. ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพด้วยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร
3. สามารถนำความรู้ที่ได้จาการอบรมไปปฏิบัติและเผยแพร่
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียนคนละ 3,000 บาท
- ค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 คนละ 3,000.- บาท
- ค่าลงทะเบียนหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 คนละ 3,500.- บาท
โปรดกรอกใบสมัคร online ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference
การชำระเงิน ท่านสามารถจ่ายเป็นเงินสดที่ คณะเภสัชศาสตร์ หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “การประชุมวิชาการภาควิชาสรีรวิทยา” ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-462266-0 พร้อม scan หรือ fax ใบโอนเงินค่าลงทะเบียน (ใบ pay in) ทางโทรสารหมายเลข 0-2644-4536 หรือ ทาง e-mail: narumon.sak@mahidol.ac.th (ในวันประชุมโปรดนำใบนำฝากธนาคารตัวจริงมาด้วยเพื่อตรวจสอบ)
ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วและมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัดได้ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0409.6/ว 95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และระเบียบของแต่ละหน่วยงาน