ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา “ศิลปะการสื่อสาร เพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล”
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา “ศิลปะการสื่อสาร เพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-040-10-2561
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุม Di Pak C. Jain ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 28 ต.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรในเครือร้านยา และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน จำนวน 30 ท่าน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 เป็นยุทธศาสตร์ฉบับแรกของ ประเทศไทยที่เน้นการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นการเฉพาะ โดยมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ และ มีกรอบในการจัดการกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาและนโยบาย ของประเทศในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศอย่างเป็นระบบ และเน้นการดําเนินการอย่างมีส่วนร่วมจาก ทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ (One Health) อีกทั้งยังเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพกับนานาประเทศทั่วโลก
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีความพยายามในการรณรงค์สร้างจิตสำนึก และความตระหนักในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เป็นไปตามหลักทางวิชาการ แต่ยังไม่สามารถลดอัตราการใช้ยาได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเป็นข้อจำกัดในการนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่การสื่อสารที่ยังขาดประสิทธิภาพ ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย หรือระหว่างบุคลากรต่างสายงาน การสื่อสารจึงเป็นความท้าทายในสายงานแพทย์ทั่วโลก ด้วยเหตุผลหลายข้อ เช่น ภาษาทางการแพทย์มีคำศัพท์เฉพาะที่เข้าใจยาก และปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน จึงทำให้มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยได้ไม่นานนัก จนกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการสื่อสารไม่เข้าใจ และไม่ร่วมมือในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล แม้จะมีองค์ความรู้จากงานวิจัยมากมาย แต่เวลาตัดสินใจเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสุขภาพ คนส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นทักษะการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงจิตใจผู้รับบริการ จะสามารถช่วยโน้มน้าวและปรับพฤติกรรมให้ผู้ป่วยมีเชื่อมั่นและปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องได้
นอกจากนั้น จากการที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นวิชาชีพที่สังคมมอบอำนาจและความไว้วางใจให้จัดการชีวิต และความเป็นความตายของผู้คนในสังคม สังคมได้คาดหวังความรู้ความสามารถที่สูง ร่วมกับจรรยาวิชาชีพ และทักษะการติดต่อสื่อสาร การทำงานเป็นทีมจากบุคลากรทางการแพทย์ในมาตรฐานที่สูงกว่าวิชาชีพอื่นๆ แต่กระบวนการฝึกคนให้เป็นแพทย์ที่ผ่านมานั้นมีส่วนทำให้ความละเอียดอ่อนต่อมิติของความเป็นมนุษย์ ถูกลดทอนลงไป อันเป็นผลจากเนื้อหาวิชาการ และภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับการที่สถาบันการแพทย์ทุกแห่ง เน้นให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศทางวิขาการ ทำให้นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการพัฒนาความรู้และทักษะด้านการแพทย์ โดยอาจถึงขั้นที่ต้องแลกกับความเป็นมนุษย์ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ที่ลดทอนลง โดยแทบไม่มีสถาบันไหน ให้ความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม กับการพัฒนาความเป็นเลิศในความเป็นมนุษย์ ที่สามารถรับรู้และเท่าทันอารมณ์ความรู้สึก ความทุกข์ ทั้งของตัวเองและผู้อื่น
อาจารย์ ดร. นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เคยให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า มิติทางอารมณ์ที่สูญหายไปจากการแพทย์นั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยถูกกระทำราวกับไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น วิธีคิดดังกล่าวยังได้พรากชีวิตในทางอารมณ์ (Emotional life) ไปจากการเป็นแพทย์ด้วย ปัจจุบันการแพทย์ตะวันตก ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับอวัยวะ และถือว่าสุขภาพดีเกิดจากการที่อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ตามปกติ การแพทย์แบบชีววิทยานี้แม้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางกายได้ดี แต่ก็ขาดมิติทางสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ การทำงานทางการแพทย์ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาทักษะการสื่อสารและการเยียวยา ควบคู่ไปกับการรักษาดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืนได้ เพราะเมื่อผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ สัมผัสได้ถึงความห่วงใยและกำลังใจจากคนที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อนจากผู้ให้บริการ จะรู้สึกได้ถึงความงดงามของมิตรภาพ และความอ่อนโยนต่อกันของมนุษย์ ความงามของความเป็นมนุษย์นี้จะประคองและหล่อเลี้ยงให้ผู้รับบริการเข้มแข็ง มีกำลังใจจนสามารถต่อสู้ เอาชนะความยากลำบากมาได้ เพราะความงดงามและความดีงามนั้น มีพลังของสุนทรียภาพที่ไม่เพียงแค่เยียวยาความบอบช้ำ ความทุกข์ แต่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตให้งอกงามทั้งผู้ให้และผู้รับบริการได้
ทักษะการสื่อสารไม่เพียงสำคัญในการเยียวยาและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้ง จากการที่มีมุมมองที่แตกต่างกัน และเนื่องจากบุคลการทางการแพทย์เป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาอบรมขั้นสูง มักมีความมั่นใจในตัวเองค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นที่ต่างจากตน ด้วยเหตุดังกล่าว ทักษะการสื่อสารแบบชาญฉลาดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาการเป็นอย่างดี หากเสริมศิลปะด้านการสื่อสารเข้าไปด้วย ยิ่งจะทำให้กระบวนการทำงานเป็นทีมในการดูแลผู้ป่วยราบรื่น แพทย์มีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้ผลการรักษาเป็นไปด้วยดี และทำให้แพทย์มีภาพลักษณ์ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศิลปะการสื่อสารเป็นแขนงที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ เหมือนกับทักษะอื่นๆ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถพัฒนาได้เช่นกัน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างแพทย์กับคนไข้ หรือระหว่างแพทย์ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในแต่ละการสื่อสาร ควรคำนึงถึง องค์ประกอบ 3 ข้อต่อไปนี้
หนึ่ง สื่อความรู้สึก (Emotional)-ใช้ความรู้สึก และใส่ใจถึงความรู้สึกของคู่สนทนา เป็นบันไดขั้นแรกเพื่อไปสู่ความสำเร็จในการสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้และหรือเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น ก่อนอธิบายด้วยเหตุผลทางวิชาการ ควรแสดงให้เห็นว่าตนให้ความสำคัญกับคู่สนทนา และแสดงออกถึงความรักความใส่ใจในงานที่ทำ
สอง เรียบง่าย (Simple)-ปรับระดับการสื่อสารให้ใกล้เคียงกันกับผู้รับสาร หลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิคทางการแพทย์ที่สร้างความเข้าใจยากแก่ผู้ป่วย และใช้ภาษาทั่วไปในชีวิตประจำวันมากขึ้น หนึ่งเทคนิคที่มีประโยชน์มากคือสรุปใจความสำคัญของเรื่องไว้ พูดสิ่งสำคัญที่สุดให้กับอีกฝ่ายรับรู้
สาม เป็นที่จดจำ (Memorable) มีเทคนิคมากมายที่จะช่วยให้คู่สนทนาหรือคนไข้จดจำสิ่งที่แพทย์แนะนำให้ทำได้ หนึ่งในนั้นก็คือ \"The Rule of Three\" ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในความจำระยะสั้น คนเราจะจำประเด็นต่าง ๆ เพียง 3-5 ข้อเท่านั้น
เช่น การอธิบายกับผู้ป่วยโดยให้เหตุผล 3 ข้อว่า เหตุใดจึงไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้ หรือควรได้รับการดูแลด้วยการรักษาประคับประคองโดยวิธีที่แนะนำให้แทน
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของกลยุทธ์ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างความพึงพอใจ และไว้วางใจในการรักษา อันจะส่งผลให้สามารถปรับลดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลได้ดียิ่งขึ้น
เหตุนี้ทางงานโรคติดเชื้อในเด็ก และกลุ่มงานวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ สถาบันสุขภาเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงาน Antibiotic Smart Use และงานพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสถาบัน ด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมบริการ ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาศิลปะการสื่อสาร เพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลกรทางการแพทย์ที่ผลักดันงาน Antibiotic Smart Use และ Rational Drug Use ให้สามารถให้คำแนะนำและปรับพฤติกรรมสุขภาพของเพื่อนร่วมวิชาชีพ และผู้มารับบริการ ในด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เพราะทุกคนและทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องล้วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลว ดังนั้น จึงต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันและร่วมค้นหาศักยภาพจากภายในตัวบุคคล และเปิดรับมุมมองจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัฒนธรรมการสื่อสารที่เอื้อต่อการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน โดยใช้หลักสุนทรียสนทนาหรือการสื่อสาร เพื่อสานสติปัญญาร่วมกันของมนุษย์ เป็นต้นแบบของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีในการถ่ายทอดพันธกิจด้าน ASU และ RDU ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สู่จุดมุ่งหมายที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง คือระบบบริการสาธารณสุขของไทยที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ไว้วางใจของสังคม
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผลักดันงาน Antibiotic Smart Use และ Rational Drug Use ให้สามารถขับเคลื่อนพันธกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย
1. สามารถให้คำแนะนำและปรับพฤติกรรมสุขภาพของผู้มารับบริการ ในด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
2. สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดี มีทักษะในการสื่อสาร และส่งเสริมการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อลดการการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล
3. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนงาน Antibiotic Smart Use และ Rational Drug Use
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนผ่าน Google Form: ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ รศ. ภญ. ดร. ธิติมา เพ็งสุภาพ (ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ) E-mail :Thitima.Pe@pharm.chula.ac.th หรือ ภญ. เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง (ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (โอสถศาลา)) E-mail : moo_pentipa@hotmail.com