ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
กรดเบมพีโดอิกและการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ Bempedoic acid and Management of Dyslipidemia (บทความวิชาการ 7)
ชื่อบทความ กรดเบมพีโดอิกและการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ Bempedoic acid and Management of Dyslipidemia (บทความวิชาการ 7)
ผู้เขียนบทความ รศ.ดร.ภก.สุระรอง ชินวงศ์ ภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถาบันหลัก เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
รหัสกิจกรรม 2001-1-000-010-11-2567
ผู้ผลิตบทความ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 18 พ.ย. 2567
วันที่หมดอายุ 17 พ.ย. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
บทนำ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) โดยเฉพาะภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด (hypercholesterolemia) เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease; CVD) การศึกษาพบว่ามากกว่าหนึ่งในสามของการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease; IHD) หรือโรคสมองขาดเลือด (ischemic stroke) มีสาเหตุมาจากระดับคอเลสเตอรอลชนิด low-density lipoprotein (LDL-C) ในเลือดที่สูง1 การลดระดับ LDL-C ทุก 1 มิลลิโมล/ลิตร หรือประมาณ 39 มก./ดล. มีความสัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ทางหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular events) ร้อยละ 20-252, 3 ในประเทศไทย แนวทางเวชปฏิบัติการบำบัดภาวะไขมันผิดปกติในเลือดเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2567 ได้แนะนำระดับ LDL-C ในเลือดที่เหมาะสมสำหรับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโรคหัวใจและหลอดเลือดที่แตกต่างกัน เช่นในกรณีการป้องกันแบบปฐมภูมิ (การรักษาผู้ที่มีระดับไขมันผิดปกติในเลือดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน clinical atherosclerosis cardiovascular disease [ASCVD] ในผู้ที่ยังไม่มีโรค) แนะนำให้มีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 100 มก./ดล. (ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม (familial hypercholesterolemia; FH) หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 ปัจจัยขึ้นไปที่แนะนำให้ต่ำกว่า 70 มก./ดล.) ส่วนในกรณีการป้องกันทุติยภูมิ (การรักษาผู้ที่มี clinical ASCVD แล้วโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute coronary syndrome; ACS) แนะนำให้มีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 55 มก./ดล. ในขณะที่แนะนำให้ต่ำกว่า 70 มก./ดล. ผู้ป่วยกลุ่มภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง (chronic coronary syndrome; CCS) และผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด (ischemic stroke) หรือสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack; TIA)4 การศึกษาถึงการบรรลุเป้าหมายของระดับ LDL-C ในประเทศไทยพบว่ามีเพียงร้อยละ 43.5 ของผู้ป่วยเบาหวานมีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 100 มก./ดล.5 ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีเพียงร้อยละ 25 ถึงร้อยละ 35 เท่านั้นที่มีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล.6-9 มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายระดับ LDL-C ในเลือดตามคำแนะนำ เช่นผู้สั่งใช้ยาไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการลดระดับคอเลสเตอรอลให้ถึงระดับที่แนะนำ ไม่จ่ายยาหรือไม่เพิ่มขนาดหรือความแรงของยาลดไขมันในเลือดโดยเฉพาะยากลุ่มสแตติน (statin) ตามที่ควรจะเป็น (มีความเฉื่อยทางคลินิกหรือ clinical inertia) ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จนไม่สามารถทนต่อยาได้ ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรับประทานยา ผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลก่อนการรักษาที่สูงมาก ยาที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลได้จำกัด รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงยาที่มีราคาสูง10-12 ในผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับ LDL-C ได้ตามเป้าหมายจากการได้รับยาในกลุ่มสแตตินในขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถทนได้ มีความเหมาะสมที่ควรได้รับยาเพิ่ม ซึ่งในปัจจุบันยาตัวที่นิยมใช้มากที่สุดคือยา อีเซทิไมบ์ (ezetimibe) และอาจรวมถึงยายับยั้งเอนไซม์ proprotein convertase subtilisin/kexin type 9; PCSK 9 inhibitors) ในกรณีที่มีความจำเป็น ยาสองตัวนี้เมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่มสแตติน สามารถลดระดับ LDL-C ในเลือดและลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ทางหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ล่าสุดยากรดเบมพีโดอิก (bempedoic acid) ซึ่งเป็นยาลดไขมันชนิดใหม่ที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบใหม่ ได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยในปี 2567 ให้ใช้ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ในบทความนี้จะอธิบายถึงเภสัชวิทยาของยากรดเบมพีโดอิกข้อมูลการศึกษาทางคลินิก และการนำยาตัวนี้ไปใช้ในทางคลินิก โดยจะเน้นที่ข้อบ่งใช้ที่รับการรับรองในประเทศไทยเป็นหลัก
คำสำคัญ
acetyl-CoA,ACL,