ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
การเกิดพิษต่อตับผ่านสารเมแทบอไลต์ควิโนนและควิโนนอิมีน
ชื่อบทความ การเกิดพิษต่อตับผ่านสารเมแทบอไลต์ควิโนนและควิโนนอิมีน
ผู้เขียนบทความ ผศ.ดร.ภญ.บุญตา ฉัตร์วีระสกุล และ นสภ.ประภัสสร วชิรเมธีกุล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-1-000-001-11-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 05 พ.ย. 2567
วันที่หมดอายุ 04 พ.ย. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ตับเป็นอวัยวะหลักที่สำคัญในการเกิดการเปลี่ยนแปลงยาและการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย การทำงานของตับสามารถถูกรบกวนด้วยสารที่เป็นพิษต่อตับทำให้เอนไซม์ตับ เช่น alkaline phosphatase, aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบ ตับวายเฉียบพลันหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับการเกิดพิษต่อตับจากการใช้ยามีรายงานว่าสามารถเกิดผ่านโครงสร้างทางเคมีที่หลากหลาย แต่ในบทความนี้จะขอเน้นเฉพาะสารเมแทบอไลต์กลุ่มควิโนน (quinone) และควิโนนอิมีน (quinone- imine) โดยเกี่ยวข้องกับการเกิดพิษของยา เช่น ลูมิราคอกซิบ (lumiracoxib) พาราเซตามอล (paracetamol) ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac) เนฟาโซโดน (nefazodone) ลาแพทินิบ (lapatinib) เป็นต้น โครงสร้างของยาที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยาผ่านควิโนนและควิโนนอิมีนส่วนใหญ่ประกอบด้วยวงแหวนอะโรมาติกที่มีหมู่แทนที่ไฮดรอกซี 2 หมู่หรือวงแหวนอะโรมาติกที่มีหมู่ไฮดรอกซีและเอมีน จากนั้นเกิดจากกระบวนการออกซิเดชันผ่านเอนไซม์ไซโตโครม P450 (CYP450) และเอนไซม์เพอร์ออกซิเดส (peroxidases) ในกระบวนการเมแทบอลิซึมเฟส 1 ทำให้ได้สารกลุ่มควิโนนหรือควิโนนอิมีนที่มีคุณสมบัติเป็นตัวออกซิไดซ์ที่แรง สามารถรับอิเล็กตรอนและไวต่อการเกิดปฏิกิริยา กลไกการเกิดพิษต่อตับของสารในกลุ่มควิโนนหรือควิโนนอิมีนสามารถทำให้เกิดพิษต่อเซลล์โดยตรง ยับยั้งการทำงานของไมโตคอนเดรียและกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจง ปัจจุบันมีวิธีการศึกษาการเกิดสารเมแทบอไลต์ที่อาจทำให้เกิดพิษต่อตับในขั้นตอนการพัฒนายาหลายวิธี เช่น การศึกษา glutathione adduct screening ด้วยเทคนิค high resolution mass spectrophotometry และการทดสอบทางคอมพิวเตอร์ผ่าน XenoSite quinone formation model การคาดการณ์สารเมแทบอไลต์ที่เกิดขึ้นสามารถช่วยในการคัดกรองและพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
คำสำคัญ
ควิโนน ควิโนนอิมีน การเกิดพิษต่อตับ การเปลี่ยนแปลงยา กลไกการเกิดพิษต่อตับ