ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
เซินซงหย่างซิน: ตำรับสมุนไพรจีนกับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ชื่อบทความ เซินซงหย่างซิน: ตำรับสมุนไพรจีนกับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้เขียนบทความ อ. ภก.บรรณสรณ์ เตชะจำเริญสุข, ผศ. ดร. ภญ.อรัญญา จุติวิบูลย์สุข, ภก.ภูริต ธนะรังสฤษฏ์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-1-000-005-10-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 02 ต.ค. 2567
วันที่หมดอายุ 01 ต.ค. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด เช่น หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation, AF) หัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด (premature ventricular contraction, PVC) หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (sinus bradycardia) โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งโรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองและภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วด้วยยามีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากโรคและภาวะแทรกซ้อน รวมถึงบรรเทาและป้องกันอาการที่เกิดจากโรคและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นรักษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะนี้ยาแผนปัจจุบันที่ใช้สำหรับรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีด้วยกัน 6 กลุ่ม ได้แก่ Ia, Ib, Ic, II, III และ IV นอกจากยาแผนปัจจุบันดังกล่าวยังมีตำรับสมุนไพรจากประเทศจีนชื่อว่า เซินซงหย่างซิน (Shensong Yangxin) ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน และเป็นตำรับยาสมุนไพรที่มีการระบุข้อกำหนดไว้ในเภสัชตำรับของประเทศจีน (Pharmacopoeia of the People Republic of China 2020, volume I) ในรูปแบบยาแคปซูลเปลือกแข็ง ขนาดยา 0.4 กรัม/แคปซูล ส่วนประกอบในตำรับยานี้เป็นตัวยาสมุนไพรที่ได้จากพืชและสัตว์รวมทั้งหมด 12 ชนิด ได้แก่ เหรินเซิน ม่ายตง ซางจี้เซิง ซานจูยฺหวี หวงเหลียน หนานอู่เว่ย์จื่อ ตันเซิน เช่อเสา ซวนเจ่าเหริน ถู่เปี๋ยฉง หลงกู่ และกันซง มีการระบุข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างหดตัวและเต้นเร็วก่อนจังหวะ (premature ventricular contraction) ส่งผลให้ชีพจรเต้นผิดจังหวะ มีงานวิจัยทางคลินิกหลายฉบับที่ทำการศึกษาถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เซินซงหย่างซินทั้งในรูปยาเดี่ยวและการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การใช้เซินซงหย่างซินร่วมกับ dronedarone สามารถช่วยลดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วกำเริบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง การใช้ เซินซงหย่างซินร่วมกับ amiodarone สามารถควบคุม rate of sinus rhythm และคลื่นพี (p-wave dispersion) ของหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เซินซงหย่างซินร่วมกับยา metoprolol หรือ amiodarone มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าการใช้ metoprolol หรือ amiodarone เพียงอย่างเดียว โดยพบว่าเซินซงหย่างซินช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยา การศึกษาทางเภสัชเศรษฐศาสตร์บ่งชี้ว่าเซินซงหย่างซินมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนและประสิทธิผลในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเซินซงหย่างซินสามารถลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหลังการจี้ด้วยคลื่นวิทยุอีกด้วย
คำสำคัญ
เซินซงหย่างซิน, Shensong Yangxin, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว