ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
อัญชัน (Clitoria ternatea L.)
ชื่อบทความ อัญชัน (Clitoria ternatea L.)
ผู้เขียนบทความ ผศ. ดร. ภญ.อรัญญา จุติวิบูลย์สุข
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-1-000-004-08-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 01 ส.ค. 2567
วันที่หมดอายุ 31 ก.ค. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
อัญชัน (Clitoria ternatea Linn.) เป็นไม้ล้มลุกพันเลื้อยที่อยู่ในวงศ์ Fabaceae เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในทางเศรษฐกิจ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เห็นความสำคัญจึงมีการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นสินค้าเกษตรชีวภาพ ภายใต้กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปี 2566 โดยสายพันธุ์อัญชันที่ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปปลูกเป็นพันธุ์ “เทพรัตน์ไพลิน 63” เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้น ให้ดอกที่มีขนาดใหญ่ และกลีบดอกมีสีน้ำเงินเข้ม เนื่องจากมีปริมาณสารแอนโทไซยานินรวมสูง จากรายงานวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีในดอกอัญชัน แสดงให้เห็นว่าสารสีน้ำเงินที่พบในกลีบดอกอัญชันเป็นสารที่มีโครงสร้างจัดอยู่ในกลุ่มแอนโทไซยานิน โดยมีโครงสร้าง 2 รูปแบบคือ non-acylated delphinidin glucosides และ acylated delphinidin glucosides ซึ่งสารแอนโทไซยานินเหล่านี้เป็นสารที่สามารถเกิดการเปลี่ยนสีได้ตามค่าความเป็นกรด-ด่างที่เปลี่ยนไป เนื่องจากที่สภาวะความเป็นกรด-ด่างที่ต่างกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเคมีของสารแอนโทไซยานิน โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถผันกลับได้ ทั้งนี้ความคงตัวของสารแอนโทไซยานินที่เป็นองค์ประกอบในกลีบดอกอัญชันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง และชนิดของตัวทำละลาย ดังนั้นควรทำการเก็บสารสกัดดอกอัญชันในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อให้ปริมาณสารแอนโทไซยานินรวมยังคงอยู่ในปริมาณสูงได้นาน สำหรับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากดอกอัญชันมีรายงานวิจัยที่ทำการศึกษาไว้หลายด้าน เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด กระตุ้นการงอกของเส้นผมและเส้นขน ตลอดจนกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าดอกอัญชันมีศักยภาพมากพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการส่งเสริมสุขภาพได้ โดยอาจทำการพัฒนาต่อยอดมาใช้ประโยชน์ในด้านการสนับสนุนการดูแลสุขภาพของทุกเพศทุกวัย ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิวหรือเส้นผม
คำสำคัญ
อัญชัน แอนโทไซยานิน อนุมูลอิสระ เมลานิน เส้นผม