บทความวิชาการ
การผลิตและควบคุมคุณภาพนิวตราซูติคอลในรูปแบบเม็ดเคี้ยว
ชื่อบทความ การผลิตและควบคุมคุณภาพนิวตราซูติคอลในรูปแบบเม็ดเคี้ยว
ผู้เขียนบทความ ศาสตราจารย์ดร. เภสัชกรหญิง จารุภา วิโยชน์ ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม และสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รหัสกิจกรรม 1007-1-000-003-06-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 04 มิ.ย. 2567
วันที่หมดอายุ 03 มิ.ย. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
เม็ดเคี้ยว (chewable tablet) เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ในโภชนเภสัชเพื่อการนำส่งสารสำคัญเข้าสู่ร่างกาย โดยสารสำคัญของผลิตภัณฑ์เม็ดเคี้ยวเพื่อสุขภาพนั้นมักเป็นสารที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในอาหารจำพวกพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์หรือจุลินทรีย์ ข้อดีในการเตรียมผลิตภัณฑ์รูปแบบดังกล่าวคือ นอกจากจะช่วยให้สะดวกต่อการกลืนแล้ว ยังช่วยให้กระบวนการปลดปล่อยสารสำคัญเพื่อเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเม็ดทั่วไป เม็ดเคี้ยวประกอบไปด้วยสารสำคัญ (active) ซึ่งหมายถึงสารที่มีผลต่อระบบชีววิทยาของร่างกายในแง่เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ชะลอการเสื่อมถอยของร่างกาย และ/หรือ เพื่อป้องกันโรค นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยสารเพิ่มปริมาณหรือสารช่วยอื่น ๆ (excipient / inert substance / adjuvant) ซึ่งมีหน้าที่นอกจากเป็นตัวกลางให้สารสำคัญกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มปริมาณสารให้เหมาะกับการตอกเป็นเม็ดได้สะดวกแล้ว ยังช่วยให้ผงผสมสามารถไหลลงในเบ้าตอก ถูกตอกให้เป็นเม็ดและคงรูปเป็นเม็ดอยู่ได้ในระหว่างกระบวนการผลิตและการเก็บรักษาก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เม็ดเคี้ยวต้องได้รับการประเมินสมบัติทั้งทางกายภาพ เคมี รวมทั้งประสิทธิผลก่อนออกจำหน่าย เพื่อมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง และเพื่อการควบคุมคุณภาพในแต่ละรุ่นการผลิต นอกจากการควบคุมคุณภาพทางเคมี เช่น วิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญแล้ว สิ่งที่ต้องประเมินร่วมด้วยคือคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ น้ำหนักเม็ดและความสม่ำเสมอของน้ำหนัก ความสม่ำเสมอของปริมาณสารสำคัญ คุณสมบัติเชิงกลของเม็ดเคี้ยว การแตกตัวและการละลาย
คำสำคัญ
การผลิตและควบคุมคุณภาพนิวตราซูติคอลส์ในรูปแบบเม็ดเคี้ยว