บทความวิชาการ
พิษต่อกระดูกจากการใช้ยา tenofovir disoproxil fumarate (TDF)
ชื่อบทความ พิษต่อกระดูกจากการใช้ยา tenofovir disoproxil fumarate (TDF)
ผู้เขียนบทความ ภญ.ปัญญพร วรรณพงศ์สถิต, ภญ.นิตยา ดาววงศ์ญาติ, ผศ.ดร.ภญ.อุไรวรรณ อกนิตย์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-1-000-002-05-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 24 พ.ค. 2567
วันที่หมดอายุ 23 พ.ค. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.25 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ยา Tenofovir Disoproxil Fumarate (TDF) เป็นยาในกลุ่ม Nucleoside/Nucleotide Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTI) ที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี ภาวะความหนาแน่น มวลกระดูก (Bone Mineral Density; BMD) ต่ำ จัดเป็นผลกระทบหนึ่งที่เกิดจากยา TDF สามารถเกิดได้ภายหลังจากได้รับยาในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำนำไปสู่การเกิดภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น กระดูกหัก รวมถึงภาวะ osteomalacia ซึ่งเป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งของกระดูก กลไกในการเกิดคาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสมดุลของกระดูกและผลกระทบจากการทำงานของท่อไตส่วนต้นที่ผิดปกติ ปัจจุบันแนวทางในการเฝ้าระวังและติดตามยังจำกัดเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง การจัดการอาการไม่พึงประสงค์เบื้องต้น คือ การเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่ม NRTI ตัวอื่น เช่น abacavir, zidovudine หรือ tenofovir alafenamide (TAF) การให้แคลเซียมและวิตามินดีในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เกิดพิษต่อกระดูกจากการใช้ยา TDF แม้ยังไม่มีแนวทางและข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน แต่พบว่าการเปลี่ยนยา TDF ร่วมกับการให้ยากลุ่ม bisphosphonate อาจช่วยให้ BMD กลับมาดีขึ้น
คำสำคัญ
tenofovir disoproxil fumarate (TDF)