ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
การใช้ยาพาราเซตามอลอย่างสมเหตุผลและการรักษาภาวะพิษจากยา
ชื่อบทความ การใช้ยาพาราเซตามอลอย่างสมเหตุผลและการรักษาภาวะพิษจากยา
ผู้เขียนบทความ พญ.เมษญา ชาติกุล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-1-000-005-07-2564
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 12 ก.ค. 2564
วันที่หมดอายุ 11 ก.ค. 2565
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ยาพาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ได้รับความนิยมและใช้กันมาก มีประวัติการใช้มายาวนาน มีฤทธิ์อ่อนในการต้านการอักเสบ โดยยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน แต่เชื่อว่า พาราเซตามอลออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ในระบบประสาทส่วนกลาง และเพิ่มระดับกั้นความเจ็บปวด ส่วนฤทธิ์ลดไข้ จะผ่านกลไกยับยั้งการสังเคราะห์และการหลั่งของพรอสตาแกลนดินในระบบประสาทส่วนกลางเช่นกัน พร้อมกับยับยั้งศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) โดยยาถูกดูดซึมได้ดีอย่างรวดเร็วผ่านทางเดินอาหารเกือบทั้งหมด และขับออกส่วนใหญ่ในปัสสาวะ ขนาดยาที่มีประสิทธิภาพของยาพาราเซตามอลในข้อบ่งใช้แก้ปวดลดไข้และแก้ปวดสําหรับในผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งชนิดเม็ดและน้ำ คือ 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง หลังรับประทานยาควรดื่มน้ำตาม สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตที่สําคัญของยาพาราเซตามอล ได้แก่ พิษต่อตับ โดยอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดแบบฉับพลัน หรือจากการได้รับยาอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูง การรักษากรณีเกิดพิษแบบเฉียบพลัน ได้แก่ การให้ผงถ่านกัมมันต์เพื่อลดการดูดซึมพาราเซตามอลผ่านทางเดินอาหาร และการให้ยาต้านพิษแอซีทิลซิสทีอีน (N-acetylcysteine) ทางหลอดเลือดดํา เป็นต้น ภาวะเป็นพิษต่อตับอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ใช้ยาควรมีความรู้ความเข้าใจและเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อได้รับประโยชน์จากยาโดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ
คำสำคัญ
พาราเซตามอล อเซตามิโนเฟน การได้รับยาเกินขนาด ภาวะพิษจากยา