การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการ เรื่อง สุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome for Healthy and Happy Life)
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการ เรื่อง สุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome for Healthy and Happy Life)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-010-06-2562
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุมทิพย์อุบล โรงแรม Arnoma Grand Bangkok
วันที่จัดการประชุม 13 -14 มิ.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ เภสัชกร พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 11 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สมองและทางเดินอาหาร (gut-brain axis) มีการสื่อสารกันโดยอาศัยระบบประสาทและฮอร์โมน เพื่อนำคำสั่งจากสมองมายังทางเดินอาหาร นอกจากนี้ในทางเดินอาหารยังมีระบบประสาทที่อยู่ภายในทางเดินอาหารเองเรียกว่า enteric nervous system (ENS) ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหารโดยทำงานเป็นอิสระจากการสั่งงานจากสมอง อย่างไรก็ตามระบบทางเดินอาหารเองสามารถสื่อสารกลับไปยังสมองโดยตรงได้เช่นกัน (bidirectional communications) ปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนว่า จุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (gut microbiota) ซึ่งพบมากในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ โดยเรียกรวมว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ gut-brain axis เรียกว่า brain-gut-microbiota axis หมายถึงการสื่อสารระหว่างจุลินทรีย์ ทางเดินอาหาร และสมอง โดยมีกลไกผ่านทางระบบประสาท (ระบบประสาทอัตโนมัติ และ ENS) ฮอร์โมน (hypothalamus-pituitary-adrenal axis) ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (การหลั่ง cytokines ต่างๆ) และเมแทบอไลต์ของจุลินทรีย์ พบว่าจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารมีบทบาทสำคัญทางสรีรวิทยาหลายประการ ช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ ช่วยสร้างวิตามินเค ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อก่อโรคในลำไส้ หากเกิดการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากจะทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เกิดโรคลำไส้แปรปรวน และยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอัลไซเมอร์ การปรับสมดุลของจุลินทรีย์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติจึงมีความสำคัญที่อาจช่วยป้องกันหรือรักษาโรคต่างๆ ดังกล่าวได้ ทั้งนี้การปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้ เช่น การใช้โพรไบโอติกเพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และพรีไบโอติกเพื่อเสริมประสิทธิภาพโพรไบโอติกให้ดียิ่งขึ้น การใช้สมุนไพร การปรับพฤติกรรมการนอนและการออกกำลังกาย
ภาควิชาสรีรวิทยา และภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมโภชนาการและสมุนไพรเชิงบูรณาการ จึงเห็นสมควรจัดการประชุมในหัวข้อ “สุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome for Healthy and Happy Life)” ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสมองและทางเดินอาหาร จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับระบบทางเดินอาหาร พรีไบโอติก โพรไบโอติก ผักและผักดองของไทยกับการปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ บทบาทของจุลินทรีย์ลำไส้ต่อจิตประสาท การใช้จุลินทรีย์ลำไส้และการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งวิธีต่างๆ เพื่อปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ เช่น พฤติกรรมการนอนและการออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งการอบรมนี้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของคณะคือ สร้างบริการวิชาชีพที่มีมาตรฐานเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด และสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพได้อย่างถูกวิธี อันก่อให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศ
วัตถุประสงค์
1. ได้รับความรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสมองและทางเดินอาหาร จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหาร
เพื่อสุขภาพสำหรับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
2. ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพด้วยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร
3. สามารถนำความรู้ที่ได้จาการอบรมไปปฏิบัติและเผยแพร่
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียนคนละ 3,000 บาท - ค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 คนละ 3,000.- บาท - ค่าลงทะเบียนหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 คนละ 3,500.- บาท โปรดกรอกใบสมัคร online ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference การชำระเงิน ท่านสามารถจ่ายเป็นเงินสดที่ คณะเภสัชศาสตร์ หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “การประชุมวิชาการภาควิชาสรีรวิทยา” ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-462266-0 พร้อม scan หรือ fax ใบโอนเงินค่าลงทะเบียน (ใบ pay in) ทางโทรสารหมายเลข 0-2644-4536 หรือ ทาง e-mail: narumon.sak@mahidol.ac.th (ในวันประชุมโปรดนำใบนำฝากธนาคารตัวจริงมาด้วยเพื่อตรวจสอบ) ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วและมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัดได้ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0409.6/ว 95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และระเบียบของแต่ละหน่วยงาน