การประชุมวิชาการ
โครงการการประชุมวิชาการสำหรับเภสัชกร เรื่อง การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในร้านยา
ชื่อการประชุม โครงการการประชุมวิชาการสำหรับเภสัชกร เรื่อง การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในร้านยา
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-044-10-2561
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 28 ต.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานในร้านยาในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญและพบได้บ่อยในประชาชนไทย นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหลายประการ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด หรือไตวาย และมักเกิดร่วมกับภาวะโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ทั้งด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยมักต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทั้งยังอาจมียาหลายชนิดเพื่อรักษาโรคร่วมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงแรกๆ ของโรคความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการแสดง ทำให้ประชากรจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัย สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงแล้วก็อาจไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่สม่ำเสมอ หรือมักไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากขึ้น
ร้านยานับเป็นสถานบริการสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว มียาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลากหลาย และมีบุคลากรทางการแพทย์คือเภสัชกรชุมชน (Community pharmacist) หรือเภสัชกรร้านยา เป็นผู้ให้บริการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ การประเมินผู้ป่วย การจ่ายยา การส่งมอบยา การให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับยาและข้อมูลสุขภาพ ในอดีตบทบาทของเภสัชกรร้านยาเน้นที่การรักษาโรคเบื้องต้น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ไข้ ไอ หวัด โรคผิวหนัง ฯลฯ แต่หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 เพื่อยกระดับและพัฒนาร้านยาของประเทศไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีข้อกำหนดสำหรับร้านยาทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (Good Pharmacy Practices: GPP) ซึ่งหลายข้อมุ่งเน้นให้เภสัชกรร้านยาสามารถติดตามและดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ เช่น กำหนดให้ทุกร้านยาต้องมีเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องชั่งน้ำหนักและที่วัดส่วนสูง มีพื้นที่สำหรับให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย และให้เภสัชกรมีหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเรื้อรังเพื่อส่งต่อสู่สถานพยาบาลให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดให้เภสัชกรร้านยาต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัยโดยการเข้ารับการอบรมความรู้อย่างสม่ำเสมอ จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันเภสัชกรร้านยาเริ่มมีความพร้อมในการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุข เช่น โรคความดันโลหิตสูง หากได้รับการสนับสนุนด้านความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัว การรักษารวมทั้งเรื่องยาที่ใช้รักษา เภสัชกรร้านยาจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยคัดกรองและดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในชุมชนเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและการใช้ยา เพื่อช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้เหมาะสมตลอดช่วงการรักษา ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมชุม (ประเทศไทย) โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการแพทย์ บริษัทไฟเซอร์ (ประเทสไทย) จำกัด จัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความก้าวหน้าในการให้บริบาลเภสัชกรรมในร้านยา รวมถึงข้อมูลความก้าวหน้าทางวิชาการด้านความดันโลหิตสูง เพื่อให้เภสัชกรร้านยามีความรู้ ความเข้าใจและแนวทางที่ถูกต้องในการให้บริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในร้านยา ซึ่งจะช่วยให้เภสัชกรร้านยาสามารถดูแลการใช้ยาและแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยโลหิตสูงในชุมชนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และพัฒนาบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เภสัชกรร้านยาได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคและการใช้ยาเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง รวมถึงสามารถคัดกรองและติดตามการใช้ยาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อให้เภสัชกรร้านยาได้รับทราบแนวทางและความก้าวหน้าของการให้บริบาลเภสัชกรรมในร้านยา
คำสำคัญ
Good Pharmacy Practices: GPP