การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพและความเป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบและความเป็นเลิศในวิชาชีพระดับพื้นที่สำหรับเภสัชกรงานปฐมภูมิ เภสัชกรคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังของโรงพยาบาล
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพและความเป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบและความเป็นเลิศในวิชาชีพระดับพื้นที่สำหรับเภสัชกรงานปฐมภูมิ เภสัชกรคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังของโรงพยาบาล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-093-12-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุม 1 (ห้องประชุมวิทยาศาสตร์สุขภาพ เดิม) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่จัดการประชุม 25 ธ.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน 200 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้หลายชนิด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น ควันบุหรี่ทำลายสุขภาพทั้งของผู้สูบบุหรี่และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร มีรายงานว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการตายอันดับ 2 ของประชากรโลก หากอัตราการสูบบุหรี่ยังไม่ลดลง ในปี ค.ศ. 2020 อาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ถึง 10 ล้านคนต่อปี ในประเทศไทยจากสถิติที่ผ่านมาพบว่ามีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 9.5 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนบุหรี่ที่ถูกสูบมากถึง 105.6 ล้านมวนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน หรือ 142 คนต่อวัน โดยที่บุคคลเหล่านี้จะเสียชีวิตในวัยกลางคนหรือมีอายุเพียง 35-69 ปีเท่านั้น จากสรุปรายงานการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 พบว่าประเทศไทยจะมีจุดอ่อนอีกหลายด้านที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การควบคุมการบริโภคบุหรี่ไม่ได้ผลสูงสุดและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สถานการณ์การสูบบุหรี่โดยภาพรวมแม้จะสะท้อนความสำเร็จของการดำเนินงาน หากแต่เมื่อพิจารณาประชากรกลุ่มเป้าหมายแล้วพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในเพศชาย อายุ 19-59 ปี สูงกว่าร้อยละ 40 และจำนวนผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มีไม่ถึงร้อยละ 18 แต่ทดแทนด้วยผู้สูบหน้าใหม่ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18 ปี และ 19-24 ปี มีอัตราสูบบุหรี่ร้อยละ 7.25 และร้อยละ 21.27 ในปี พ.ศ. 2550 ตามลำดับ และร้อยละ 69 ของผู้สูบบุหรี่เยาวชนเพศหญิง อายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 14 ปี ดังนั้นหากสามารถหยุดการสูบบุหรี่ได้จะเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างมาก เช่น ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 50 ปี จะมีโอกาสเสียชีวิตเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ยังสูบบุหรี่ต่อไป และความเสียงต่อการเกิดมะเร็งปอดจะเท่ากับร้อยละ 30-50 ของผู้ที่ยังสูบบุหรี่ต่อไป การหยุดสูบบุหรี่จะลดอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบลงได้ครึ่งหนึ่งหลังจากหยุดสูบได้ 1 ปีและจะลดลงอย่างช้าๆ และหลังจากหยุดสูบบุหรี่ได้ 15 ปีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจตีบจะเหมือนผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหาการสูบบุหรี่ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยเองมีการจัดทำโครงการเลิกสูบบุหรี่ขึ้น เช่น โครงการเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ โดยเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ และจากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้สถานบริการทางด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ร้านยา เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ รวมทั้งองค์การอนามัยโลกได้จัดให้การสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องให้การรักษาเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ดังนั้น การหาหนทางในการรักษาหรือบำบัดผู้สูบบุหรี่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั้งงานปฐมภูมิและคลินิกเฉพาะโรค เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดและได้ให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในหลายๆ โรค อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คลินิก โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นต้น รวมถึงการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยในชุมชน ซึ่งบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคดังกล่าวและส่งผลทำให้การรักษาโรคดังกล่าวไม่ถึงเป้าหมายของการรักษา ดังนั้นการฝึกอบรมเพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลสามารถสอดแทรกการให้บริการเลิกบุหรี่ในการบริบาลทางเภสัชกรรม ในคลินิกเฉพาะโรค ในโรงพยาบาล และงานงานปฐมภูมิได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างผู้นำด้านการเลิกบุหรี่แก่เภสัชกรประจำโรงพยาบาล ในส่วนของเภสัชกรงานปฐมภูมิและเภสัชกรคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง
2. เพื่อให้เกิดบริการด้านการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยเฉพาะโรคและงานบริบาลทางเภสัชกรรมปฐมภูมิในโรงพยาบาล
3. เพื่อสร้างเครือข่ายการให้บริการเลิกบุหรี่และการส่งต่อเพื่อให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ กลุ่มเป้าหมาย
เภสัชกรโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานในส่วนของงานปฐมภูมิในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้องเอ็ดและ กาฬสินธุ์ โรงพยาบาลละ 1 ท่าน และเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังของโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโรงพยาบาลละ 1 ท่าน โดยผู้เข้าร่วมทั้งหมดไม่เกิน 200 คน
คำสำคัญ
เภสัชกรงานปฐมภูมิ, เภสัชกรคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง