การประชุมวิชาการ
โครงการบูรณาการองค์ความรู้ด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรในหมู่นักวิจัยไทยเพื่อเผยแพร่สู่ประชาคมวิจัยและสังคม
ชื่อการประชุม โครงการบูรณาการองค์ความรู้ด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรในหมู่นักวิจัยไทยเพื่อเผยแพร่สู่ประชาคมวิจัยและสังคม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รหัสกิจกรรม 1006-2-000-021-07-2560
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม และ ห้อง ปิ่นเกล้า โรงแรมเอส ดี อเวนิว กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 12 -14 ก.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กลุ่มเป้าหมาย นักวิจัยด้านสมุนไพร จำนวน 30 คน ผู้สนใจทั่วไป จำนวน 10 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการวิจัยการแพทย์และสมุนไพร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรทดแทนหรือการใช้สมุนไพรในยาสำเร็จรูปทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณมากขึ้น โดยมีการใช้ในรูปแบบของพืชสมุนไพรสด หรือสมุนไพรแปรรูปทั้งในรูปชิ้นส่วนตากแห้ง หรือผงยา และนำมาใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภคนอกจากนั้นยังมีการใช้สมุนไพรในรูปแบบอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น โดยพบว่าแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรในประเทศไทยมีมากขึ้น มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการใช้สมุนไพรสูงถึงปีละ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพร และใช้ในการอ้างอิงสำหรับการขึ้นทะเบียน ตำรับยาสมุนไพร เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยของพืชสมุนไพรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด โดยในเบื้องต้นพืชสมุนไพรที่จะนำมาใช้เป็นยาต้องได้รับการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์และมีการระบุชนิดให้ถูกต้อง โดยการพิสูจน์เอกลักษณ์และการระบุชนิดพืชสมุนไพรนั้นทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาทั้งลักษณะมหทรรศน์ (macroscopic characteristics) และการตรวจสอบเนื้อเยื่อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (microscopic characteristics) การตรวจสอบทางเภสัชเวทและการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี แต่วิธีการดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในเรื่องความถูกต้องและความรวดเร็ว และอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการระบุชนิดพืชที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านี้ ในปัจจุบันได้มีการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า ดีเอ็นเอบาร์โค้ด ซึ่งเป็นลำดับนิวคลีโอไทด์ช่วงสั้นๆ ที่มีความแปรผันสูงและสามารถใช้จำแนกสิ่งมีชีวิตได้ มาใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งพืชได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยหลักการนี้หากนำมาประยุกต์ใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์เพื่อระบุชนิดของพืชสมุนไพรได้อย่างถูกต้อง จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการสมุนไพรไทย ที่จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรได้ในอนาคต ปัจจุบันมีนักวิจัยไทยที่ศึกษาและสร้างองค์ความรู้ด้านนี้อยู่ไม่น้อย มีการนำข้อมูลดีเอ็นเอบาร์โค้ดไปฝากไว้ในฐานข้อมูลนานาชาติ และเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านวารสารระดับนานาชาติ ทำให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่กระจัดกระจายในหลายแหล่งและหลายรูปแบบ ซึ่งมิได้มีการนำมาบูรณาการกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการสมุนไพรไทย อีกทั้งยังไม่เคยมีการจัดประชุมสัมมนาหรืออบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดพืชสมุนไพรเกิดขึ้นในประเทศไทย ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมุ่งเน้นศึกษาวิจัยด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดจึงเห็นสมควรดำเนินโครงการเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดพืชสมุนไพรไทยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ ทั้งต่อวงการวิจัย อุตสาหกรรม และการนำสมุนไพรไปใช้ในระดับประเทศ และสามารถต่อยอดเป็นฐานความรู้ของประเทศเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรไทยสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์
2. เพื่อจัดการความรู้ด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรไทย
3. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชสมุนไพรไทยสู่นักวิจัยรุ่นใหม่
คำสำคัญ
DNA, บาร์โค๊ด,พืชสมุนไพร
วิธีสมัครการประชุม
คุณกัลยา อรวิเชียร 0819183921