บทความวิชาการ
ความปลอดภัยของการใช้ยากลุ่ม Sodium-Glucose Cotransporter 2 (SGLT2) Inhibitors ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus)
ชื่อบทความ ความปลอดภัยของการใช้ยากลุ่ม Sodium-Glucose Cotransporter 2 (SGLT2) Inhibitors ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus)
ผู้เขียนบทความ อ.ภก.เกียรติเกรียงไกร โกยรัตโกศล และนายณรรฐนน กาญจนถม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-1-000-001-10-2559
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 14 ก.ย. 2559
วันที่หมดอายุ 13 ก.ย. 2560
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ยาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors อันได้แก่ dapagliflozin empagliflozin และ canagliflozin เป็นหนึ่งในกลุ่มยาลดระดับน้ำตาลในเลือดที่สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้บรรจุไว้ในแนวทางการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับเป็นการรักษาเสริมกับยาอื่น โดยยากลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถลดระดับ HbA1c ลดน้ำหนักตัวของผู้ป่วย และช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้3,4 โดยมีความเสี่ยงน้อยในการทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้มีข้อเสียในเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์หลายชนิด ดังแสดงในตารางที่ 1 เช่น ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะและการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งพบได้สูงกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาการไม่พึงประสงค์ต่อไตนั้นพบได้ในช่วงแรกของการใช้ยา อาทิ การเกิดไตวายเฉียบพลันหรือการลดลงของค่า eGFR แต่ในระยะยาว การใช้ยากลับส่งผลดีต่อการทำงานของไตมากกว่าการใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับภาวะปริมาตรของเหลวในร่างกายลดลงนั้นมีแนวโน้มเกิดได้โดยเฉพาะกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมาก การทำงานของไตแย่ลง ด้านอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้น ยาสามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล และระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดได้ แต่ก็ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล โดยหลักฐานในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ายา empagliflozin สามารถลดอัตราการตายจากโรคทางหัวใจและหลอดเลือดได้ ในส่วนของการเกิดภาวะ DKA จากยา มักพบเป็นชนิด euglycemic DKA ซึ่งมักเกิดแบบรุนแรง จึงควรมีการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำของประกาศเตือนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับอาการไม่พึงประสงค์เรื่องการเกิดกระดูกหักนั้น ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ แต่การเกิดภาวะ VTE นั้นพบไม่แตกต่างจากการใช้ยาหลอก นอกจากนี้ มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์เรื่องการตัดขาและเท้าในผู้ที่ใช้ยา canagliflozin ซึ่งอาจยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากยาจริงหรือไม่ แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์แล้วควรมีการเฝ้าระวังและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยา canagliflozin จะเห็นได้ว่า การเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลาย ๆ ชนิดนั้น มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องการการเฝ้าระวังและติดตามมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการทำงานของไตแย่ลง (eGFR น้อยกว่า 60 mL/min/1.73 m2) เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ภาวะปริมาตรของเหลวในร่างกายลดลง ภาวะ DKA และการเกิดกระดูกหักได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการใช้ยา เนื่องจากยาจะมีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีการทำงานของไตแย่ลง ดังนั้นในฐานะเภสัชกร นอกจากการแนะนำผู้ป่วยถึงการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ จากยากลุ่ม SGLT2 inhibitors ด้วยตนเอง และการแนะนำเรื่องการจัดการตนเองหรือการกลับมาพบแพทย์เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วนั้น เภสัชกรอาจมีบทบาทในเรื่องของการมีส่วนร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อวางแผนการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การประเมินและการจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการวางแผนการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มสูงขึ้น หรือมีข้อจำกัดใด ๆ ต่อการใช้ยากลุ่ม SGLT2 inhibitors
คำสำคัญ
SGLT2 Inhibitors