ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิกที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568

การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนาสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคด้านเครื่องมือแพทย์ (รุ่นที่ 1)
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนาสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคด้านเครื่องมือแพทย์ (รุ่นที่ 1)
สถาบันหลัก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รหัสกิจกรรม 3001-2-000-002-02-2568
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต
วันที่จัดการประชุม 17 -19 ก.พ. 2568
ผู้จัดการประชุม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กลุ่มเป้าหมาย เครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 15 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้กระจายอำนาจการดำเนินงานไปยังหน่วยบริหารราชการในส่วนภูมิภาค ประกอบกับแผนปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องส่งเสริมสุขภาพ ปองกันโรค และคุ้มครองผู้บริโภค เป็นเลิศ (Promotion, Prevention & Protection Excellence) และยุทธศาสตร์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ 5 เรื่ององค์กรสมรรถนะสูงด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล กลยุทธ์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรบุคคล มาตรการที่ 4.1 สร้างศักยภาพบุคลากรสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (HR Transformation) ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นเรื่องการเสริมสร้างให้คนไทย มีสุขภาวะที่ดี ประเด็นย่อยเรื่องการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการมอบอำนาจภารกิจบางส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องมือแพทย์ให้ส่วนภูมิภาค และได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยบริหารราชการในส่วนภูมิภาค เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกรในกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ เภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ก่อนและหลังออกสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย รวมไปถึงการตรวจสอบ ติดตาม กรณีร้องเรียนเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องมือแพทย์บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้านการส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการเครื่องมือแพทย์ในคลินิคเสริมความงามซึ่งเปิดให้บริการอย่างมากมายทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องมือแพทย์ในภารกิจการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศและสามารถคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ กองควบคุมเครื่องมือแพทย์จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาความรู้ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และเฝ้าระวังเครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด
วัตถุประสงค์
1 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านเครื่องมือแพทย์ มีความรู้ ความเข้าใจในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์หลังออกสู่ตลาด ภายใต้กฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
2 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านเครื่องมือแพทย์ได้พัฒนาทักษะในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานปฏิบัติงานเดียวกันทั้งประเทศ
3 เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายกับส่วนภูมิภาคในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์

คำสำคัญ
เครื่องมือแพทย์