การประชุมวิชาการ
การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในบุคลากรทางการแพทย์ จังหวัดกระบี่
ชื่อการประชุม การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในบุคลากรทางการแพทย์ จังหวัดกระบี่
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-043-08-2559
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุมนิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อาคารประสิทธิ์พัฒนา โรงพยาบาลกระบี่ จังหวัดกระบี่
วันที่จัดการประชุม 22 ส.ค. 2559
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรในจังหวัดกระบี่ และบุคลากรทางการแพทย์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สถานการณ์การเกิดเชื้อโรคที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมายาวนาน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาทางด้านพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีความเชื่อในทางที่ผิดเกี่ยวกับความจำเป็นของการได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคเมื่อมีความเจ็บป่วย แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะโดยบุคลากรทางสาธารณสุขเอง ซึ่งยังคงสั่งใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้ขาดความตระหนักถึงผลที่จะตามมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะ การขาดแรงกระตุ้นจากวิชาชีพที่ผลักดันให้มีการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล หรือการหวังผลด้านประสิทธิภาพในการรักษา คือสามารถรักษาให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้นได้เร็ว ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือจากประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ หากเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนของสถานพยาบาลของรัฐ และเอกชนให้ความสำคัญ และร่วมมือกันปฏิบัติตามแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
โรงพยาบาลในประเทศไทยหลายแห่งได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของโครงการการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล (ASU) และได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด จนปัจจุบัน ASU ถูกนำไปสู่มิติของงานพัฒนาคุณภาพ และบริการตามมาตรฐานโรงพยาบาล และเป็นตัวชี้วัด THIP II ตามโครงการ Engagement for Patient Safety ประกอบกับทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดตัวชี้วัดให้สถานพยาบาลควบคุมปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 โรค คือแผลเลือดออก โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคท้องเสียเฉียบพลันในผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากนี้ ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้คณะกรรมการประสาน และบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพจัดทำยุทธศาสตร์ และเร่งผลักดันให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพตามบทบาทหน้าที่ โดยใช้หลักพัฒนายุทธศาสตร์เน้นการทำงานที่เสริม และสานพลังโดยมีกรอบการบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการกระจาย และการใช้ยาปฏิชีวนะในภาพรวมที่เน้นการใช้อย่างเหมาะสม และมอบหมายให้เป็นประเด็นที่ผู้ตรวจจะนิเทศสถานพยาบาลต่อไปด้วยนั้น ทางคณะกรรมการพัฒนางานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโรงพยาบาลกระบี่ และกลุ่มงานเภสัชกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว รวมถึงผลกระทบทั้งทางด้านเชื้อดื้อยา และค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น จึงได้ดำเนินงานตามโครงการ ASU มาโดยตลอด และในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ผลการดำเนินงานในกลุ่มโรค URI และ AGE ได้ระดับคะแนน ๔ จาก ๑๐ ซึ่งเป็นผลจากการที่บุคลากรยังสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นมากกว่าร้อยละ ๒๐ จึงเห็นควรมุ่งเน้นในส่วนของการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะของบุคคลากรได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการจัดการปัญหาหากได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์หลายวิชาชีพ และสามารถดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนของโรงพยาบาลกระบี่ ศูนย์แพทย์ชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตเมืองตลอดจนสถานพยาบาลทุกระดับในจังหวัดกระบี่ จะเกิดแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความคุ้มค่าทางด้านผลการรักษา และค่าใช้จ่ายที่ลดลงได้ ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล (Antibiotics Smart Use) ในบุคลากรทางการแพทย์จังหวัดกระบี่ ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ขึ้น เพื่อให้มีการนำความรู้จากการเข้าร่วมอบรมไปขยายผลต่อโดยเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล และร่วมกันพัฒนาศักยภาพการทำงานของทีมสหสาขา รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน เกี่ยวกับการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค และเป็นแนวทางพัฒนางานร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดกระบี่ร่วมกัน
วัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ให้บุคลากรทางการแพทย์
คำสำคัญ
ASU; Antibiotics; Patient Safety; Medication; การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
วิธีสมัครการประชุม
-