ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
การประชุมและเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “World AMR Awareness Week (WAAW) 2024: Educate. Advocate. Act now. ให้ความรู้ ร่วมสนับสนุน และดำเนินการทันที”
ชื่อการประชุม การประชุมและเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “World AMR Awareness Week (WAAW) 2024: Educate. Advocate. Act now. ให้ความรู้ ร่วมสนับสนุน และดำเนินการทันที”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
รหัสกิจกรรม 1014-2-000-013-11-2567
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้อง ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 1 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
และผ่าน Facebook Live ของ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)
วันที่จัดการประชุม 28 พ.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์ แกนนำและเครือข่าย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะ และ/หรือยาต้านจุลชีพอื่นๆ นั้น ถือว่าเป็นภัยคุกคามในระดับประเทศและทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.3 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่าในปี 2593 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 10 ล้านคน (สำนักข่าวสร้างสุข, 2567) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 30 หน่วยงาน ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 4 ภายใต้ธีม “Save Lives Fight Resistance” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ สถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพทั้งในประเทศและระดับโลก พร้อมเริ่มต้นขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 อย่างเป็นทางการ
ด้านนานาชาติ จากการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 68 เดือนพฤษภาคม 2558 มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งที่ คือ การจัดทำแผนการปรับปรุง เรื่อง ความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพ ผ่านการสื่อสาร การให้ความรู้ และการอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังการประชุม องค์การอนามัยโลกจึงประกาศ “สัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรียในระดับโลก (World Antibiotic Awareness Week, WAAW)” และกำหนดให้ วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันตระหนักรู้เรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะ ตามแนวคิดของยุโรป (European Antibiotic Awareness Day) ที่มีการประกาศมาแนวคิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 (WHO, 2024a)
องค์การอนามัยจะประกาศคำขวัญ ธีม หรือประเด็นสำคัญ ในการรณรงค์สัปดาห์รู้รักษ์ฯ ทุกๆ ปี เช่น ปี 2561 มีธีมว่า “คิดให้รอบคอบและปรึกษาผู้รู้ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ (Think Twice, Seek Advice) และ “การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้อง จะนำพาพวกเราทุกคนไปสู่ความเสี่ยงที่รุนแรง” (Misuse of antibiotics puts us all at risk) (WHO, 2018) โดยในปี 2567 องค์การอนามัยโลก กำหนดประเด็นหลักของ World AMR Awareness Week (WAAW) 2024 คือ “Educate, Advocate, Act now” (หมายถึง ให้ความรู้ ร่วมสนับสนุน และดำเนินการทันที) (WHO, 2024b) รวมทั้ง ในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ประจำปี 2567 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองแนวคิด “Political declaration of the high-level meeting on antimicrobial resistance” และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินการเร่งด่วน ในการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาโรค และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งประเทศไทยก็มีผู้แทนเข้าร่วมรับรองในที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน หน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม (เรียกว่า Quadripartite) ได้แก่ WHO, FAO, WOAH, and UNEP ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก (PGA Press Releases, 2016)
สำหรับประเทศไทยได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2565” เป็นแผนงานฉบับแรกที่จัดทำอย่างเป็นทางการในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้สุขภาพหนึ่งเดียว และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และมีการพัฒนาเป็น “แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570” (คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ, 2567) มีคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ (ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ร่วมกับ กำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน 6 ด้าน และหนึ่งในยุทธศาสตร์ คือ การส่งเสริมความรอบรู้ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแก่ประชาชน ร่วมสนับสนุน หรือร่วมจัดงาน WAAW อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) และหน่วยงาน หรือองค์กรทางด้านวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขต่างๆ จัดประชุม และเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “World AMR Awareness Week (WAAW) 2024: Educate. Advocate. Act now. ให้ความรู้ ร่วมสนับสนุน และดำเนินการทันที” ใน สัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ปี พ.ศ. 2567” ตามประกาศขององค์การอนามัยโลกปีนี้ (WHO, 2024b) และจัดประกวดการ์ตูนโดยเยาวชน เพื่อให้ร่วมรณรงค์ความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อเผยแพร่ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ชุมชน และสังคมเชื้อดื้อยา และการใช้ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ และยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุล รวมทั้ง ระดมความคิดเห็น อภิปรายบทบาท กิจกรรม และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อร่วมกันหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และอนาคตของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
วัตถุประสงค์
1. กระตุ้นให้ประชาชนและสังคมตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ การใช้ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล และร่วมวางแผนป้องกันแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล
2. สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน เสนอทางเลือกให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพโดยไม่ใช้ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่เหมาะสม เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการในยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570
3. รณรงค์เผยแพร่ สื่อสารสาธารณะ ในประเด็นการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการตกค้างในวงจรอาหารและในสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น
4. ระดมความคิดเห็น อภิปรายบทบาท กิจกรรม และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาสุขภาพ และร่วมวางแผนป้องกันแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล
5. พัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพในด้านเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และการใช้ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล
คำสำคัญ