หลักการและเหตุผล
ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นกลไก และกระบวนการในการประสานความร่วมมือ เพื่อจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิของหน่วยบริการปฐมภูมิ มีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชน ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การฟื้นฟูสุขภาพ การผสมผสานของบริการทางการแพทย์ การสาธารณสุข และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการส่งต่อผู้รับบริการ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ซึ่ง เภสัชกรรมปฐมภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดย เภสัชกรรมปฐมภูมิ คือ การบริการเภสัชกรรมโดยเภสัชกร แบบองค์รวม ครอบคลุมมิติการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ การรักษา และการฟื้นฟูสภาพ การเฝ้าระวังอาการข้างเคียงจากการใช้ยา รวมทั้งการส่งต่อผู้รับบริการ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ของจังหวัดตรัง พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่ง เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ถูกต้องทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการของการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เภสัชกรรมปฐมภูมิ ได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมมีประสิทธิภาพลดลง ทั้งนี้เกิดจากข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอกับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ มีการเปลี่ยนแปลงและมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ดังนั้น กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เห็นควรจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเภสัชกร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ จังหวัดตรัง ปีงบประมาณ 2567 เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ และเภสัชกรรมปฐมภูมิ