หลักการและเหตุผล
บทบาทของเภสัชกรในกระบวนการดูแลสุขภาพของประชาชนนั้น ประกอบด้วย การให้บริการทั้งในสถานบริการ (โรงพยาบาล) ร้านยา ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวก ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องของเภสัชกร โดยเฉพาะด้านการใช้ยา สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจ การรักษาโรคและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง สนับสนุนให้ผู้ป่วยมีความร่วมมือในการรักษา เป็นการทำให้ผู้ป่วย และผู้ดูแลตระหนักถึงความสำคัญของการรักษา และเป็นโอกาสที่จะได้รับทราบปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยโดยตรง และต่อสังคม ดังนั้นงานของเภสัชกร เป็นการดูแล ทั้งระดับบุคคล ระดับครอบครัว และเป็นที่พึ่งของชุมชน ซึ่งต้องมีความเชื่อมโยงของงานเภสัชกรจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาชุมชน ทั้งบทบาทด้านการเฝ้าระวังโรค หรือรูปแบบการบริการคัดกรอง บทบาทการจัดการด้านยา บทบาทการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน และผู้ป่วย รวมถึงบทบาทการคุ้มครองผู้บริโภค การศึกษารวบรวมองค์ความรู้ ตลอดจนข้อมูลของผลจากการปฏิบัติงาน พัฒนาสื่อและช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านยา
การปฏิบัติหน้าที่ของเภสัชกรในบทบาทด้านต่าง ๆ ย่อมประสบปัญหาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งต้องการแนวทางการแก้ไขและพัฒนา การปฏิบัติงานดังกล่าว ดังนั้น การนำงานประจำมาจัดทำเป็นงานวิจัยแบบ R2R ที่มีระเบียบวิธีวิจัยและการประมวลผลโดยใช้สถิติที่ถูกต้อง จะสามารถนำงานวิจัยเหล่านั้นไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไข ตลอดจนใช้ในการพัฒนางานประจำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้