การประชุมวิชาการ
การคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่านระบบ TaWai for Health สำหรับเภสัชกรชุมชน
ชื่อการประชุม การคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่านระบบ TaWai for Health สำหรับเภสัชกรชุมชน
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-027-12-2565
สถานที่จัดการประชุม ประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom Meeting
วันที่จัดการประชุม 17 ธ.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรชุมชน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) อย่างปัจจุบันนี้ ได้ก่อให้เกิดการติดต่อ สื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างไร้ข้อจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบของผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อผู้บริโภค ซึ่งพบว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงและรักษาสุขภาพ ทั้งในรูปแบบของ ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ได้รับความนิยมจากผู้ป่วยและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ยิ่งในช่วงอุบัติการของโรค COVID-19 ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคพยายามเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์สุขภาพมาดูแลรักษาตนเองมากขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งช่องทางที่ถูกและผิดกฎหมาย เนื่องจากผู้ผลิตหรือผู้ขาย สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นผ่านหลายช่องทาง ทั้ง online และ offline ทั้งนี้เมื่อมีการกระตุ้นการขายที่ไม่เหมาะสมและการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้นหรือใช้เกินความจำเป็นย่อมมีความเสี่ยงที่จะส่งผลเสียตามมามากมาย เช่น เสียโอกาสในการได้รับการรักษาที่เหมาะสมเนื่องจากผู้ป่วยบางรายหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แทนยาแผนปัจจุบันที่จำเป็นกับการรักษา เพราะหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีประสิทธิภาพที่ดีและมีความปลอดภัยสูง ส่งผลทำให้ผู้ป่วยควบคุมภาวะโรคไม่ได้ สูญเสียเงินเกินความจำเป็น เกิดการแพ้ และอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้หลายผลิตภัณฑ์ยังมีรายงานการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน การปนเปื้อนสารเคมี หรือสิ่งต้องห้ามที่ก่อเกิดอันตรายได้ บางชนิดมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีที่มาที่ชัดเจน หรือไม่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่ออันตรายที่รุนแรง ดังที่มีข่าวการเสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องเสียเงินมหาศาลในการติดตาม ตรวจสอบ และดูแลสุขภาวะจากผลกระทบจากผลิตภัณฑ์สุขภาพเหล่านี้ ทั้งนี้จากรายงานของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรบางผลิตภัณฑ์ไม่ระบุชนิด ปริมาณของส่วนประกอบและสารออกฤทธิ์ที่แน่นอน อาจมีการปนโลหะหนัก มีการปลอมปนสารหรือยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพในปัจจุบันที่ขายผ่านช่องทาง online มีมากกว่า 40% ที่กระทำผิดกฎหมาย หรือไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น จึงเป็นที่มาของโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการจัดการปัญหาด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และเท่าทันเทคโนโลยี ค่านิยม และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องมีการพัฒนากระบวนการเฝ้าระวัง จัดการปัญหา และส่งต่อข้อมูลจากชุมชนถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค ผ่านรูปแบบการจัดการใหม่ๆ ในยุคสังคมดิจิทัล (Digital Society) โดยนำเอาระบบเทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศและดิจิทัล (Information and communications technology & digital) เข้ามาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ลดทอนเวลาของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเกิดเป็นระบบการจัดการ และบริการให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ และสื่อสารพร้อมทั้งส่งเสริมความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยประเด็นด้านสาธารณสุขมุ่งเน้นในการสร้างความรอบรู้และจิตสำนึกทางสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีศักยภาพในการจัดการสุขภาวะที่ดีได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้ตระหนักรู้ ฉลาดคิด ฉลาดใช้ และมีทักษะด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลและการสื่อสารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร มีระบบบริการที่ดี มีระบบเฝ้าระวังโรค/ภัยสุขภาพ สร้างช่องทางการสื่อสารและเผยแพร่ความรู้ที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย มีบุคลากรที่เข้มแข็ง ยกระดับศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพในชุมชน พัฒนาระบบและกลไกการคุ้มครองประชาชนด้านข้อมูลข่าวสารและความรู้สุขภาพ ขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมระบบบริการและโปรแกรมประยุกต์ด้านข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีด้านสุขภาพ กอรนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พศ. 2561-2580) และแผนแม่บทการส่งเสริมเศษฐกิจดิจิทัล (พศ. 2561-2565) ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาดิจิทัลที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นส่วนรวม เกิดความสะดวกในการเชื่อมโยงกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการให้บริการหรือแอพพลิเคชั่นสำหรับประยุกต์ เพื่อใช้งานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคงและปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาคลังข้อมูลและฐานข้อมูลดิจิทัล การบริหารจัดการความรู้ รวมทั้งการส่งเสริมเพื่อให้มีระบบที่เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้และให้บริการข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย พร้อมสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ผ่านสื่อดิจิทัล ซึ่งเอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงนโยบายสำหรับการดำเนินงานและการจัดการปัญหา เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี บนฐานความรู้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ทั้งนี้ในปี 2559 หน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (TaWai for Health) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับเครือข่ายประกอบด้วย เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในเขตสุขภาพที่ 10 และ 12 เจ้าหน้าที่ อสม. อย.น้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่สามารถเสริมศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคและการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนที่ชื่อว่า application TaWai for Health และได้มีการยื่นจดแจ้งเพื่อขอคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ตาไว หรือ TaWai for Health เป็นเครื่องมือและระบบการจัดการความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคส่วนประชาชนและหน่วยงานของรัฐโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นระบบ application เดียวในปัจจุบันที่ดำเนินการด้าน Pharmacovigilance และ Patient safety ที่มุ่งเน้นการรายงานและติดตามปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับชุมชน ใน 3 ลักษณะคือ 1) อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 2) ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยที่จะทำให้เกิดอันตราย และ 3) โฆษณาที่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันได้พัฒนาจนได้ระบบ TaWai for Health version 3 และ TaWai Line Chatbot เพื่อพร้อมให้บริการทั้งเครือข่ายภาครัฐและภาคส่วนประชาชน จากการรายงานระบบจะส่งต่อแบบทันทีให้เภสัชกรผู้รับผิดชอบงานในพื้นที่เกิดเหตุตรวจสอบและยืนยันเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาบริบทของพื้นที่ และส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหาในเชิงระบบและเชิงนโยบาย เช่น ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ส่วนข้อมูลการร้องเรียน เช่น ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ขึ้นทะเบียน การโฆษณาเกินจริง จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ของ อย. เป็นต้น ทั้งนี้ปัญหาที่ถูกจัดการในระบบเรียบร้อยแล้วจะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูล TaWai for Health โดยรายละเอียดข้อมูลที่จัดเก็บจะครอบคลุมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการจัดการปัญหาด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคทุกมิติ ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูล และเครือข่ายสามารถเรียกดูรายงานสถานการณ์ได้อย่าง real time และมีความน่าเชื่อถือสูงเพราะทุกรายงานมีตัวตนผู้รายงานที่ชัดเจนและก่อนที่จะบันทึกเก็บไว้ในระบบนั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากเภสัชกรผู้ดูแลระบบ ประโยชน์ที่จะได้รับจะเกิดเป็น Big Data รวบรวมปัญหาด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมเฝ้าระวัง ซึ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้สามารถนำไปวิเคราะห์ภาระงานและผลลัพธ์การปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมประเทศรวมถึงรายละเอียดแต่ละพื่นที่ได้ พร้อมทั้งใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการ หรือการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องด้านคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน โดยมี อย.ควบคุมกำกับดูแล Data ในฐานข้อมูลนี้ให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย นอกจากนี้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างทางหน่วย TaWai จะนำไปสังเคราะห์พัฒนาเป็นความรู้เชิงวิชาการสื่อสารให้กับผู้บริโภครับทราบเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย ผ่านช่องทาง website: www.tawaiforhealth.org และ Facebook page: ตาไวรู้ทันภัยสุขภาพ

ทั้งนี้จากการดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานวิจัยได้พัฒนาเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลและการสะท้อนปัญหาของเครือข่ายผู้ใช้งานระบบในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อให้เครือข่ายในทุกระดับสามารถใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมจนได้ระบบและเครื่องมือที่พร้อมสำหรับการขยายงานในพื้นที่ต่างๆ โดยปัจจุบันมีเครือข่าย TaWai for Health ในกว่า 12 จังหวัด มีผู้ใช้งานกว่า 500 คน และสามารถสะท้อนปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้ง 3 ด้าน กว่า 1,000 รายงาน/ปี และจากผลงานดังกล่าว ระบบ TaWai for Health จึงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน Active community based surveillance สำหรับการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลในชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเรื่อง การขับเคลื่อนสู่ประเทศที่ใช้ยาได้อย่างสมเหตุผล หรือที่เรียกว่า RDU country (Rational Drug Use Country) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

เพื่อให้เกิดการขยายงานเครือข่ายผู้ใช้งานและการพัฒนาระบบ TaWai for Health ให้สามารถทำงานควบคู่กับระบบหลักของประเทศด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการขับเคลื่อนการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสมเหตุผลในชุมชน และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อผู้บริโภค ทางหน่วยงานจึงเห็นถึงความสำคัญของเภสัชกรชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มเภสัชกรหน้าด่านที่พบเจอกับผู้บริโภคและผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการและสอบถามปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน ซึ่งพบว่ามีผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย ข้อมูลโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลากหลาย ที่ได้รับการดูแลจากเภสัชชุมชน เพื่อให้การทำงานนี้เป็นระบบและเข้าใจรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางหน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (TaWai for Health) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อหวังให้เภสัชกรชุมชน ได้เข้าใจและมีเครื่องมือสำหรับช่วยให้ประชาชนและผู้บริโภคมีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์
1 เพื่อส่งเสริมให้เภสัชกรชุมชนเข้าใจ กลไก รูปแบบ และแนวทางการการดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับชุมชนและเชิงนโยบาย
2 เพื่อแนะนำรูปแบบการดำเนินการและการใช้งาน ระบบ TaWai for Health เพื่อเป็น Active community surveillance tool ตามแนวทางของ RDU community ของกระทรวงสาธารณสุข
คำสำคัญ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, การคุ้มครองผู้บริโภค, Active community surveillance tool, RDU community, TaWai for Health